จากที่เราพาไปทำความรู้จัก Studio 88 Artist Residency หมู่บ้านศิลปินที่เปิดรับศิลปินจากทั่วโลกตลอดทั้งปี ณ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เราก็ได้ทราบว่าพวกเขาเพิ่งปิดโครงการศิลปินในพำนักรอบล่าสุดในธีม Gender Fluid ไป
คราวนี้ 5 ศิลปิน 6 คนจาก 5 ประเทศ รวมตัวกันเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาองค์ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศผ่านเรื่องเล่า ชุดประสบการณ์ การทำความรู้จักกับชุมชนเพศหลากหลายในท้องถิ่น จนได้ออกมาเป็นผลงานที่พวกเขาเพิ่งจัดแสดงเสร็จไปเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
เราได้รับโอกาสทำความรู้จักกับศิลปินทั้ง 5 (แต่มี 6 คน) ที่มีฉากหลัง ความสนใจ รวมถึงวิธีการเล่าเรื่องด้วยเครื่องมืองานศิลปะที่ต่างกันออกไป บางคนใช้ภาพวาด บางคนเล่าผ่านภาพเคลื่อนไหว บางคนใช้เรื่องของการจัดวาง บางคนใช้เทคโนโลยี และบางคนก็ได้ข้อมูลเป็นกระบุงเพื่อกลับไปใช้ทำงานวิจัยต่อในอนาคต
ศิลปินทุกคนเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด ทุกคนเล่าเรื่องของตัวเองทั้งภูมิหลัง และเบื้องหลังการพัฒนาชิ้นงานได้อย่างน่าตื่นตา และน่าติดตาม ซึ่งผลงานสุดท้าย รวมถึงเรื่องราวของเขา ต่างเป็นการประกอบสร้างกันระหว่างความสนใจส่วนตัว ประสบการณ์รายทาง และแพสชั่นส่วนตัวของศิลปินแต่ละคน
ดังนั้น อย่ารีรอที่จะเดินตามเราเข้ามาในหมู่บ้านศิลปินแห่งนี้อีกครั้ง
เพราะศิลปินทุกคนกำลังรอให้เราไปทำความรู้จักกับเขา
เรเชล แชปแมน
ศิลปิน: ออสเตรเลีย
เรเชลคือ อดีตคนทำงานด้านการเมืองที่ทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์ในฐานะคณะทำงานด้านนโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศในรัฐสภาออสเตรเลีย ผู้ลาออกมา “ค้นหาตัวเอง” ผ่านการทำงานศิลปะ
“ฉันค้นพบว่า การวาดภาพช่วยจัดการความคิดในช่วงเวลาที่โควิดระบาด ถ้าให้เปรียบเทียบ การสร้างงานศิลปะสำหรับฉัน เมื่อฉันพบแนวคิดที่ชอบ หรือแม้แต่รูปแบบที่น่าสนใจ ฉันสามารถดำดิ่งลงไปได้” เรเชลเริ่มเล่าต้นทางในความหลงใหลศิลปะ ซึ่งเธอบอกเราว่า สิ่งที่เธอค้นพบจากการเรียนปริญญาโทและทำงานศิลปะในช่วงนั้นคือ
การอนุญาตให้ตัวเองได้ลองผิดลองถูก และไม่ต้องยึดติดกับทักษะ
“ฉันคิดว่าการเรียนศิลปะจะช่วยพัฒนาทักษะการวาดภาพ แต่อาจารย์กลับบอกให้วางพู่กันลงและลองทุกอย่าง นั่นเป็นการเปิดโลกของฉันอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นฉันคิดว่าการทำวิดีโอต้องเป็นนักทำต่อวิดีโอที่เก่ง หรือการถ่ายภาพต้องเป็นช่างภาพที่มีฝีมือ ตอนนั้นฉันจึงค้นหาว่า การไม่เชี่ยวชาญในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่พอได้ทำหลายอย่าง และสร้างงานที่เน้นแนวคิดมากกว่าความสวยงามเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ สำหรับฉันคือ การเชื่อมโยงระหว่างศิลปะและการรณรงค์ การใช้ศิลปะเป็นสื่อในการกระตุ้นให้คนคิดถึงเรื่องต่างๆ ในมุมมองใหม่ หรือมีส่วนร่วมกับประเด็นที่พวกเขาอาจไม่สนใจผ่านวิธีการอื่นๆ เป็นวิธีการแสดงออกที่ดีเยี่ยมด้วย” เรเชลเล่า และถึงแม้เรเชลจะบอกว่าวิดีโอแรกของเธอมันจะโหลยโท่ยและแย่มาก แต่แกนสำคัญคือ เธอสนุกที่ได้ลอง
การที่เรเชลได้มาเป็นศิลปินในพำนักในครั้งนี้ สิ่งที่เธอเห็นจากการทำเวิร์กช็อปและ Focus Group คือ การมีตัวตนของคนเพศหลากหลายในไทยนั้น ยังไม่ได้มีตัวตนอย่างมีอยู่จริงเท่าที่ควร
“ฉันเคยคิดว่าประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและเฉลิมฉลองคน LGBTQ+ อย่างมาก ซึ่งจริงอยู่บางส่วน แต่จากที่ได้ยินจากคนในท้องถิ่นและคนอื่นๆ ที่เราได้พูดคุย มันอาจจะยากกว่าที่ฉันคิด เพราะสำหรับคนที่เติบโตขึ้นมาเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทย ประสบการณ์การใช้ชีวิตในที่เช่นเชียงใหม่หรือในชนบทต่างจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางนานาชาติที่มีผู้คนจากทั่วโลกอาศัยอยู่มาก” เรเชลอธิบาย
จากเรื่องราวที่เธอเรียนรู้ รวมถึงความสนใจในอัตลักษณ์ Non-Binary ที่มีความยืดหยุ่นและไม่ยึดโยงกับกรอบเพศ เธอเลยนึกถึงน้ำ และนำมาเป็นแกนหลักในชิ้นงานที่เธอสร้างออกมา
“เมื่อใดก็ตามที่ฉันพยายามพูดถึงหรืออธิบายประสบการณ์เรื่องเพศของตัวเอง คำเหล่านั้นมักจะรู้สึกถูกต้องอยู่แค่ชั่วคราว ฉันจึงคิดถึงแสงและวิธีที่แสงโต้ตอบกับน้ำ ที่มีความลื่นไหลตลอดเวลา เพราะแสงจะทำให้การสะท้อนน้ำนั้นเป็นนามธรรมและหักเหมากขึ้น วิดีโอที่ฉันทำจะเป็นการแสดงการสะท้อนของน้ำ แต่ยังมีสีและรูปร่างอื่นๆ รวมอยู่ด้วย”
เรเชลใช้ภาพวาดเล่าเรื่องคู่ขนานไปกับวิดีโอที่เธอทำออกมา โดยมีน้ำเป็นธีมหลัก ซึ่งสารสำคัญที่เธออยากบอกจากงานชิ้นนี้คือ อัตลักษณ์ทางเพศที่ลื่นไหล และไปต่อได้อย่างไม่สิ้นสุด
โจนาธาน อาร์มัวร์
ศิลปิน: ไอร์แลนด์, อังกฤษ
ด้วยสไตล์เฉพาะตัวของโจนาธานที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ ประกอบกับความสนใจอย่างลงลึกในเรื่องของ “ผิวหนัง” งานของโจนาธานจึงเล่นกับร่างกายด้วยเทคนิคผ้าพิมพ์ลาย และเทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR
แต่จริงๆ แล้ว โจนาธานไม่ได้เป็นศิลปินมาตั้งแต่แรก เพราะเขาอยู่ในสายวิชาชีพวิศวกรมาตลอด ก่อนที่จะค้นพบตัวเองว่า แพสชั่นในใจจริงๆ ของเขามันอยู่ในโลกศิลปะมากกว่างานวิศวกรรม
“จุดเปลี่ยนจริงๆ มันจากที่คุณพ่อของผมตรวจเจอโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มันเป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้ผมต้องคิดถึงเส้นทางเดินจริงๆ ของตัวเองได้แล้ว และผมก็คิดได้ทันทีว่า เส้นทางในอาชีพวิศวกรไม่ใช่เส้นทางที่ผมอยากเลือกเดินต่อ ผมเลยไปลงเรียนคอร์สศิลปะอยู่ 2 ปีในช่วงปี 2012-2013 ก่อนจะเรียนปริญญาโทจนจบในปี 2015 และจากนั้นผมก็เรียกตัวเองว่าเป็น “ศิลปิน” เต็มตัว”
ประเด็นที่โจนาธานหมกมุ่นเป็นหลักคือ เรื่องของร่างกาย ที่มีองค์ประกอบทั้งผิวหนัง ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ที่เขาเรียกมันรวมๆ ว่า องค์ประกอบของร่างกาย ซึ่งความอยากรู้อยากเห็นเหล่านี้ทำให้เขาเลือกปะทะสังสรรค์ และทำงานกับ “คน” จริงๆ ไปด้วย เพราะเขามองว่า ถ้าจะทำงานกับร่างกายและผิวหนังแล้ว ก็ต้องเลือกทำงานกับคนที่มันมีเนื้อมีหนังจริงๆ มากกว่า
“แต่ถ้าถามผมจริงๆ ผมก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะ ที่ผมหลงใหลในเรื่องร่างกายขนาดนี้” โจนาธานชิงตอบก่อนเราถาม ก่อนจะสรุปต่อว่า ไม่ว่างานไหนๆ ที่โจนาธานลงมือทำมา มันจะเกี่ยวข้องกับเนื้อตัวและร่างกายอยู่เสมอ และเขามองว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีผลกับมนุษย์มาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่อาจส่งผลให้มนุษย์กลายเป็นอะไรก็ได้ในอนาคต
ซึ่งการมาร่วมโครงการศิลปินในพำนักครั้งนี้ เขายังได้ศึกษาการแสดงออกทางเพศที่เป็นองค์ความรู้ท้องถิ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากชาวบ้านและชนเผ่าที่สักขาลาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการสักที่แสดงออกถึงความเป็นชายชาตรีอย่างเข้มข้นตามความเชื่อแบบล้านนาดั้งเดิมในหลายพื้นที่ อีกทั้งการสนทนากับพระสงฆ์ในพื้นที่ เพื่อศึกษาองค์ความรู้ด้านเพศดั้งเดิมตามประวัติศาสตร์
รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องเพศกับศิลปินด้วยกันเอง ทั้งในฉากเพศหลากหลายและสตรีนิยม ทำให้งานของโจนาธานมีทั้งการจัดแสดงผ้าพิมพ์ลายกราฟิกที่เล่นกับร่างกายของมนุษย์ที่สุดแสนจะตรงไปตรงมา และ Performance Art ที่ได้กอล์ฟ-ธนุพล ยินดี จากคณะละครมะขามป้อมมาร่วมพัฒนางานร่วมกับเทคโนโลยี AR ผ่านวิดีโอ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หนึ่งของโจนาธานในการเป็นศิลปินในพำนักคือ การร่วมงานกับศิลปินในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีการแสดงสดที่กอล์ฟแสดงร่วมกับซัลโว ศิลปินผู้ใช้ศาสตร์การละครมาร่วมแสดงในกิจกรรมโชว์เคสอีกด้วย
การสมัครเข้ามาเป็นศิลปินในพำนักครั้งนี้ โจนาธานไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมากมาย แต่เขากลับได้สนุกกับการทดลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การทำงานกับชุมชน การทำงานที่มีฉากหลังเป็นธรรมชาติ รวมถึงการได้เรียนรู้ศาสตร์ศิลปะที่เขาไม่เคยทำ เช่น การเรียนรู้งานกวี การเขียนบทสำหรับสื่อเคลื่อนไหว เป็นต้น
ลียุง คิม, โซโน คิม
กวี: เกาหลีใต้
นี่คือศิลปินหนึ่งเดียวที่ “มาเป็นคู่” และมาจากประเทศในทวีปเอเชีย
ความสนุกอย่างแรกของงานจากทั้งสองคนคือ ก่อนเริ่มการสัมภาษณ์ ทั้งสองชวนเราทำแบบสอบถามเกี่ยวกับ “ผีในจินตนาการ” ของคนเพศหลากหลาย ซึ่งทั้งลียุงและโซโนได้ชักชวนกลุ่มตัวอย่าง 10 คน ทำแบบสอบถามสนุกๆ นี้ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นการเล่าเรื่องผ่านวิดีโอ และงานจัดวางซึ่งสวยและเท่เหลือใจ
ทั้งสองบอกเราว่า ที่เขาชวนเราออกแบบผีในจิตนาการ เพราะเขาได้แรงบันดาลใจมาจาก “ศาลย่านาค” หรือแม่นาคพระโขนง ที่เหล่าหนุ่มไทยมักไปบนบานขอพรเมื่อต้องเกณฑ์ทหารเพื่อให้จับได้ใบดำ หรือ ไม่ต้องเป็นทหาร ซึ่งมันเป็นกิมมิคหนึ่งของการเล่าเรื่องเพศหลากหลายผ่านสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และเล่นกับความเชื่อของคนไทยได้สนุกมาก เพราะผีของพวกเขา เป็นได้ทั้งพระเจ้า เป็นได้ทั้งซาตาน ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตายตัว และไม่ต้องระบุเพศด้วยซ้ำ
วิธีคิดเหล่านี้ของทั้งลียุงและโซโน ช่วยสะท้อนภาพการถูกกดทับของเพศหลากหลายในบ้านเกิดของเขาที่โหดและดุดันกว่าของไทยมาก
“เกาหลีใต้เป็นสังคมที่มองเห็นความหลากหลายได้ยาก เนื่องจากมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในระบบการแข่งขันที่เข้มข้น คุณค่าที่หลากหลายมักถูกมองข้ามและถูกกีดกัน คนรักเพศเดียวกันในเกาหลีใต้ยังคงต่อสู้เพื่อให้สังคมรับรู้ถึงตัวตน แม้ว่าสื่อจะทำให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของคนรักเพศเดียวกันมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่หลายคนยังไม่ค่อยคิดว่าจะมีคน LGBT อยู่ในละแวกใกล้เคียง ตัวอย่างเช่น ในกรุงโซลมีการจัดงานเทศกาลไพรด์ครั้งใหญ่ทุกปีหน้าศาลากลางเมือง แต่ติดกับงานไพรด์จะมีกลุ่มต่อต้านที่มีขนาดพอๆกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนุกและน่าขัน” ลียุงว่า
“เพศหลากหลายอาจจะเปิดเผยตัวตนกับเพื่อนได้ แต่กลับเปิดเผยไม่ได้กับครอบครัว ถึงแม้จะมีการยอมรับในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในกลุ่มคนหนุ่มสาวมากขึ้น แต่กลุ่มคนที่ไม่ยึดติดกับเพศสภาพ (นอนไบนารี) และคนข้ามเพศ (ทรานส์เจนเดอร์) มักจะถูกกีดกัน แม้กระทั่งภายในกลุ่มเพศหลากหลายด้วยกันเอง” โซโนเสริม
แนนซี่ ลู โรเซนไฮม์
ศิลปิน: สหรัฐอเมริกา
“ศิลปะทำให้ฉันซื่อสัตย์กับตัวเองที่สุด” แนนซี่เริ่มบทสนทนากับเราแบบนี้
แนนซี่เป็นศิลปินตั้งแต่อายุ 23 ปี ซึ่งเธอยึดมันเป็นอาชีพมาจนถึงวันนี้ ขวบปีแรกเธอยังคงใส่ความเป็นตัวละครชายลงไปในงานบ้าง แต่ในเวลาหนึ่งที่แนวคิดสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ (Feminism) เบ่งบานในสหรัฐอเมริกา ทิศทางงานศิลปะของเธอก็เปลี่ยนไปนับแต่นั้น โดยเธอใช้เทคนิคทั้งการวาด การปั้นประติมากรรม และการพิมพ์
แล้วที่เธอบอกว่าศิลปะทำให้เธอซื่อสัตย์กับตัวเอง เธอหมายถึงอะไร
“ส่วนหนึ่งก็คือการสามารถแสดงออกถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ตอนนี้บางส่วนของสิ่งที่ฉันกำลังแสดงออกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น และความรู้สึกและอารมณ์ของฉัน ไม่ใช่แค่การแสดงออกทั่วไป ยิ่งฉันสามารถระบุความเปราะบางของตัวเองได้อย่างชัดเจนมากเท่าไหร่ คนอื่นก็จะยิ่งเข้าใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้น และเข้าใจในระดับการเมืองด้วย อย่างที่หลักการเฟมินิสต์บอกเรา” เธอขยายความ
วิธีการเล่าเรื่องในรูปแบบของแนนซี่คือ การสร้างสัตว์และมนุษย์ผสม รวมถึงการสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อพยายามสื่อสารถึงสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่จะเน้นความจริง ซึ่งเธอมีส่วนผสมเป็นแรงบันดาลใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ กระสือของไทย ที่เธอนำมาสื่อสารผ่านงานวาดในครั้งนี้
“ฉันได้คุยกับคุณอ้อมที่เป็นผู้จัดการหมู่บ้านถึงการที่กระสือมีอิทธิพลในวัฒนธรรมของไทย เธอเปิดภาพที่กระสือเป็นนิยายภาพจากศิลปินที่หลากหลาย มันมีความโดดเด่นเฉพาะตัว และฉันอยากนำมันมาอยู่ในงานของฉัน นอกจากนี้ฉันยังต้องศึกษางานที่หลากหลาย ทั้งการอ่านหนังสือนิยายที่ทำให้ฉันเรียนรู้วัฒนธรรม และจิตวิทยา รวมถึงชุดคู่สีบางอย่างที่ทำให้ฉันได้อะไรใหม่ๆ ออกมา” แนนซี่อธิบาย
นอกจากกระสือแล้ว เธอได้รับแรงบันดาลใจจากตัวละครในป่าหิมพานต์อย่างนางอัปสร ที่นำมาพัฒนาบนพื้นฐานแนวคิดสตรีนิยม โดยใช้วัสดุพื้นถิ่นเป็นองค์ประกอบของงาน รวมถึงส่วนผสมจากบทสนทนาที่ได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ หรือชิ้นงานที่สามารถแบ่งปันความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้
ดร.โทไบอัส วิกกินส์
อาจารย์มหาวิทยาลัย: แคนาดา
อาจารย์โทไบอัสคือ ศิลปินคนเดียวที่ไม่ได้จัดแสดงผลงานสุดท้าย เพราะการมาของเขาในโครงการศิลปินในพำนักครั้งนี้คือ การศึกษาความรู้เพศหลากหลายสำหรับนำไปทำวิจัยและงานอื่นๆ ทางด้านวิชาการ เพราะจากพื้นฐานของอาจารย์โทไบอัสที่สวมหมวกหลายใบในโลกวิชาการที่แคนาดา ที่มหาวิทยาลัย Athabasca University เมืองอัลเบอร์ตา
“งานที่เราทำหลักๆ มีอยู่สามส่วนคือ การเป็นอาจารย์ที่ภาควิชา Feminist & Gender Studies ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สอนนักเรียนเกี่ยวกับวิธีการทางจิตวิทยา และการให้คำปรึกษาแบบเฟมินิสต์ รวมถึงการทำงานในสาขาที่เกี่ยวกับเพศและสุขภาพจิต รวมถึงเนื้อหาเกี่ยวกับสตรีนิยม และความรู้เรื่องเพศต่างๆ ส่วนต่อมาคือ การทำวิจัยโดยใช้วิธีการทางศิลปะ เราทำงานกับกลุ่มคนข้ามเพศใน Alberta เพื่อสำรวจประสบการณ์ของพวกเขาในช่วงการระบาดของ COVID-19 เราใช้วิธีการวิจัยที่เรียกว่า “การเล่าเรื่องดิจิทัล” ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์สั้น และเราจัดกิจกรรมชื่อ Justice Series ที่เป็นงานบรรยายเพื่อความเท่าเทียมในสังคม”
จุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์โทไบอัสเจอหมู่บ้านศิลปินเล็กๆ แห่งนี้ เพียงแค่การเสิร์ชในอินเทอร์เน็ต แล้วก็เป็นความบังเอิญราวกับจักรวาลจัดสรรที่ผลการค้นหาของ Studio 88 เด้งขึ้นมาเป็นลำดับแรก อาจารย์โทไบอัสที่กำลังหาความเป็นไปได้ในงานวิจัยที่ยึดโยงกับงานศิลปะ จึงเห็นโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้อะไรสักอย่างจากการเป็นศิลปินในพำนักของโครงการนี้
“เราอยากเรียนรู้เพื่อการทำงานวิจัย ที่จะได้มาซึ่งหัวข้อใหม่ๆ ในสถานที่ใหม่ๆ ซึ่งเราว่าศิลปะมันให้โอกาสเราในการค้นหาความจริงในชีวิต หรือสร้างประสบการณ์และเรื่องราวใหม่ๆ ที่บอกเล่าด้วยคำพูดไม่ได้ เราอยากลองปลดปล่อยบางอย่าง และพูดบางอย่างที่เราอาจจะไม่แน่ใจว่าพอจะใช้วิธีไหนได้ หรือเป็นการสร้างวิธีการมองอะไรใหม่ๆ ที่คุณสามารถแบ่งปันได้ บางทีงานวิจัยอาจจะเป็นอะไรที่เข้าถึงยากเพราะมันอาจจะวิชาการเกินไป แต่ศิลปะเอง ผลลัพธ์ก็คืองานศิลปะที่สามารถเข้าถึงผู้คน ชุมชน และสังคมอื่นๆ ที่ส่งพลังและการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้” อาจารย์อธิบาย
อาจารย์โทไบอัสบอกเราอีกว่า เขาไมไ่ด้ตั้งความคาดหวังอะไรมากนักในการมาเป็นศิลปินในพำนักครั้งนี้ เพราะอยากให้ประสบการณ์นำพาไป การเดินทางครั้งนี้พัดพาให้อาจารย์ศึกษาเรื่องผู้ชายข้ามเพศ ในไทยอย่างลงลึกเป็นพิเศษในการเป็นศิลปินในพำนักครั้งนี้ โดยทั้งอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับการมีตัวตนของผู้ชายข้ามเพศ การไปทำความรู้จักชายข้ามเพศที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายในจังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์คาดหวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้อาจารย์ได้ทำความรู้จัก และรวมกลุ่มชายข้ามเพศในประเทศแคนาดาได้
และที่สำคัญ ประสบการณ์ต่างๆ มันช่วยในการศึกษาฉากทัศน์ของความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยได้อย่างลึกซึ้งขึ้น
“เราตื่นเต้นในการที่ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ร่วมกับคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน ทั้งศิลปินที่เราคุยกันบ่อยมาก หรือแม้แต่ที่มีกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนกับคนเพศหลากหลายในชุมชน ทั้งนักกิจกรรม หรือแขกคนอื่นๆ ที่ทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ หรือการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์-เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ มันถือว่าเป็นประโยชน์กับเรามากๆ เพราะมันขยายองค์ความรู้ เปิดหัว เปิดความคิดให้เรามากๆ”