เท่าที่เราสำรวจในโลกออนไลน์ ช่องคอนเทนต์ออนไลน์ที่นำเสนอเคล็ดลับการเป็นคนทำหนัง หรือนักทำคอนเทนต์ที่ต้องใช้ภาพเคลื่อนไหวในการเล่าเรื่องก็มีอยู่ทั่วไป แต่ก็หาคนที่แชร์วิธีการเล่าเรื่องด้วยเทคนิค Storytelling ได้ยาก

วันหนึ่งเราเห็นว่ามีช่อง TikTok ชื่อ @Alsonut พูดถึงวิธีการเล่าเรื่องผ่านสื่อภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ที่แต่ละหัวเรื่องที่เขาคิดมา มันการันตีได้เลยว่าต้องเป็นคนทำงานสายโปรดักชั่นแน่ๆ อย่างเช่น

“เคล็ดลับหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ สำหรับสายเล่าเรื่อง”
“ตีความการเข็นน้ำแข็งในมิวสิกวิดีโอ Mourning ของ Post Malone
“อายุ 14 ก็เป็นแอนิเมเตอร์ได้! อย่างโหด”
“เทคนิคหนังชวนอึ้งจากหนัง Sci-Fi รุ่นเดอะ”
“เบื้องหลัง MV ฮิปฮอปที่ไม่เหมือนใคร”

ซึ่งคลิปสั้นๆ ไม่เกินนาทีครึ่งก็สามารถเล่าประเด็นจากหัวเรื่องเหล่านี้ได้ทั้งหมดจนครบ เข้าใจง่าย แต่ถ้าใครอยากฟังแบบลึกซึ้งมากขึ้นก็ตามไปที่ช่องยูทูปในชื่อเดียวกันได้ และเราดันมารู้ทีหลังว่า เจ้าของช่องนี้คือเพื่อนสมัยเรียนมหาลัยที่เจอกันครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว!

นัททาโร่-ชญาพัฒน์ ภู่เกต (ในบทสัมภาษณ์นี้จะเรียกว่า “นัท”) คือเจ้าของช่อง Alsonut ที่ว่านี้แหละ ซึ่งจากที่เราเก็งว่าเขาต้องอยู่ในวงการโปรดักชั่นก็ดันถูกเผงด้วย เพราะเขาคือหนึ่งในทหารเสือแห่งโปรดักชั่นเฮาส์เลือดใหม่ใจกลางนครพิงค์อย่าง 239 Studio ที่ฝากผลงานในโลกโปรดักชั่นหลากหลายรูปแบบตั้งแต่โฆษณาไวรัล มิวสิกวิดีโอ รายการโทรทัศน์ และสารคดี

ก็ไม่น่าแปลกใจแล้วว่าอะไรทำให้เขาเล่าเรื่อง-การเล่าเรื่องได้แหลมคมขนาดนี้ พิสูจน์ด้วยยอดผู้ติดตามรวมทั้ง Youtube และ TikTok กว่า 50,000 คนในเวลาแค่ครึ่งปี คลิปทั้งสั้นและยาวมียอดวิวรวมกันเป็นหลักล้าน! รวมถึงกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนที่มีความฝันอยากเป็นนักเล่าเรื่อง เป็นคนทำคอนเทนต์ และเป็นผู้กำกับ วัดได้อีกจากการที่นัทเปิดระบบสมาชิก ก็เริ่มมีชาวเน็ตให้ความสนใจในช่องของเขา

ในฐานะที่เป็นเพื่อนกันมา 10 ปี การนัดหมายเพื่อทำบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มันง่ายเหลือใจ เรื่องที่พอจะคุยกันได้ก็มีไม่กี่ประเด็น แต่นอกจากที่เราจะได้รู้ถึงที่มาที่ไปตามสูตรบทสัมภาษณ์ปกติแล้ว เราพบว่า Alsonut ก็คือแพสชั่นอีกอย่างหนึ่งของนัทที่อยากทำให้ตัวเองเป็นคนทำงานโปรดักชั่นที่ดีขึ้น 

นั่นคือ การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และการทำสิ่งๆ นี้แบบไม่คาดหวัง 

แต่ปล่อยให้ความสนุกและเรื่องเล่านำพาไป

งานอดิเรกแก้ติดเกม

ก่อนจะไปถึงเนื้อหนังมังสาของ Alsonut นัทรีบเบรกเราก่อนจะอัดคำถามยากๆ ด้วยการบอกจุดประสงค์ที่แสนเรียบง่ายนั่นคือ งานอดิเรกแก้ติดเกม และการเป็นนักสร้างสรรค์เนื้อหาบนโลกออนไลน์หรือ Content Creator ก็ไม่ใช่เรื่องที่นัทคิดหรือทัดทานไว้เลย

“ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรใหญ่โต ไม่ได้แพลนด้วย แต่เคยคิดว่าอยากทำคอนเทนต์เมื่อตอนนานมาแล้ว แล้วตอนนั้นก็คิดเยอะด้วย แพลนนู่นนี่ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร คอนเทนต์ประมาณไหน แต่ก็ไม่ได้ทำสักที จุดเริ่มต้นที่มาทำอันนี้ ตลกมากคือ ติดเกมๆ นึงแล้วก็หักดิบกับมัน เหมือนเราล็อคกิจวัตรประจำวันของเราเอาไว้ว่าประมาณ 2 ทุ่มถึง 5 ทุ่มคือเล่นเกม แล้วอยู่ดีๆ ก็ติด แล้วก็เบื่อเกมนั้นเพราะเรานอยด์กับเกม ก็เลยรู้สึกว่าหาอะไรมาแทนสล็อตเวลาตรงนี้ ก็เลยเริ่มจากลองทำ TikTok แล้วก็ลองหาวิธีเล่าที่เราพอจะเล่าได้แล้วก็พอจะรู้ ไม่ได้คิดตั้งเป้าว่าจะต้องมีช่อง ไม่ได้คิดเชิงกลยุทธ์อะไรเลย เป็นเหมือนงานอดิเรกมากกว่า” นัทบอก

ซึ่งการที่ใครสักคนลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์เพราะเป็นงานอดิเรก หรือเป็นกิจกรรมยามว่างก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วยิ่งคนที่ทำสำเร็จเพราะมองเป็นกิจกรรมสันทนาการก็มีไม่ได้น้อยด้วย เราเลยถามนัทต่อว่า สิ่งๆ นี้ นัททำเอาสนุก ทำเอารายได้ หรือว่าถูกทุกข้อ

“ตอนนี้โฟกัสความมันอย่างเดียวเลย” นัทรีบตอบเราทันที

“รู้สึกว่าเราเครียดกับงานแล้ว เราไม่อยากจะต้องเค้นตัวเลขกับมัน กับช่อง รู้สึกว่ามันกดดันเกินไป งานเรามันกดดันเยอะแล้ว ช่องเรา เราทำ เราเล่าภาษาที่เราอยากเล่า พอ เงินเป็นผลพลอยได้มากกว่าถ้ามันมี ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องเงินเลย เราแค่รู้สึกว่าทำเอาสนุกมันก็สนุก”

หาภาษาในการเล่าเรื่องให้ตัวเอง

ถ้าย้อนกลับไปดูเนื้องานของนัทแล้ว เพราะการรับจ้างผลิตสื่อวิดีโอให้กับลูกค้าที่มีขนาดตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงรายใหญ่ มีโปรดักชั่นเฮาส์ บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ หรือสถานทีโทรทัศน์ มันมีการที่จะต้อง “ตอบโจทย์” ลูกค้า และต้องเล่าเรื่องในภาษาและกรอบเพดานที่ลูกค้ากำหนดไว้ การเริ่มทำช่อง TikTok ของนัทเลยอยากลองเล่าเรื่องด้วย “ภาษาของตัวเอง” ดูบ้าง

“การทำงานตอบโจทย์ลูกค้ามันทำให้เราไม่ได้หาภาษาของเรา ไม่ได้หาท่าทางที่เราอยากจะเล่า มันก็ต้องทำตามโจทย์บ้าง รู้สึกว่างานอดิเรกนี้มันเป็นพื้นที่ให้เราหาวิธีเชื่อมต่อกับคน หาวิธีเล่าเรื่องให้คนฟังแบบที่เราอยากเล่าอย่างนี้มากกว่า รู้สึกว่ามันทำให้เราผ่อนคลายเราตรงนั้น” นัทอธิบาย

“แล้วกระบวนการของนัทมีอะไรบ้าง” เราถามต่อ

“เราไม่ได้วางแผนอะไรเลย” นัทตอบแล้วยิ้ม

“เราจะไม่เล่าในประเด็นที่มันมีคนเล่าไปแล้วซึ่งเขาก็ทำได้ดีเช่น รีวิวหนัง เรารู้สึกว่าคนก็ทำเยอะ คนที่ทำได้ดีก็เยอะ คนที่ทำไม่ดีก็พอมี ถ้ามันซ้ำเราก็จะหาวิธีใหม่ๆ บิดมุมเล่าที่มันเป็นเรา ไม่ได้ไปเล่าประเด็นที่เขาทำไว้อยู่แล้ว”

การไม่ทำซ้ำในสิ่งที่คนอื่นทำไปแล้วคือข้อคำนึงแรก ส่วนข้อต่อมาคือ Mood and Tone ในการเล่าบนแพลตฟอร์ม ซึ่งสำคัญมากเพราะคราวนี้นัทเล่าเรื่องบน TikTok จนค่อยๆ ขยายเขตแดนไปถึงช่อง Youtube

“เราก็เหมือนตัดสิน TikTok ประมาณนึงว่าต้องมีเอนเนอร์จี้ มีความ Extrovert ซึ่งแรกๆ เราก็เป็นแบบนั้นนะ แต่ก็รู้สึกว่าไม่อยากให้มันเหมือนคอนเทนต์ทั่วๆ ไปบนแพลตฟอร์ม ก็แค่อยากเล่าแบบเรา แล้วมันก็ดันโอเค แล้วขยายมาเรื่อยจนกลายมาเป็น YouTube ที่ก็รู้สึกว่ามันก็ไปเจอคนที่เราพูดด้วยแล้วเขาเข้าใจเรามากขึ้น ซึ่งมันก็มาจากฐาน TikTok ตรงนั้น 

“ถ้าถามว่าแพลนมั้ย ก็ไม่ได้แพลนขนาดนั้นแต่เหมือนเราเอามุมมองหรือความคิดของเราว่าดีกว่า” นัทสรุป

Video Essay กับนรก 3 ขุม

ฟังดูน่ากลัว แต่นี่คือนิยามของกระบวนการผลิตชิ้นงานวิดีโอที่ในห้องเรียนระดับมหาวิทยาลัยใช้นิยามจริงๆ กล่าวคือ กระบวนการก่อนถ่ายทำ (Pre-Production) การถ่ายทำ (Production) และหลังถ่ายทำ (Post-Production) ซึ่งทุกขั้นตอนโหดและใช้เวลามากกว่าจะจบแต่ละกระบวนการ

ซึ่งกับนัทและ Alsonut ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่ข้อดีนิดหน่อยของกระบวนการทั้งหมดในการผลิตวิดีโอคือ นัทเลือกเล่าเรื่องด้วยศาสตร์ Video Essay ที่ไม่ได้ใช้กระบวนการมากนัก ไม่ต้องออกหน้า มาแค่เสียงและลีลาในการตัดต่อ

แต่เราสนใจว่า ทำไมถึงเลือกใช้วิธีนี้

“แค่เราเป็นคนนึงที่ชอบ Video essay ของเมืองนอก แล้วก่อนหน้านี้ในไทยจะไม่ค่อยมี แต่เดี๋ยวนี้ก็มีบ้างแล้ว ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือมีการเรียบเรียงบทเหมือนเรียงความ มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ารบางอย่าง แต่เล่าเรื่องผ่านวิธีการที่เป็นวีดีโอ วีดีโอนั้นจะเป็น Infographic เป็นอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราว่า มันมีการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นเรียงความ มีลีลาการเล่าแบบต้น-กลาง-จบ” 

สำหรับการทำวิดีโอแต่ละชิ้น นัทเริ่มเล่าถึงนรกขุมแรก หรือการทำ Pre-Production ที่เนื้อหาส่วนหนึ่งคือการทำรีเสิร์ชข้อมูลคือขั้นตอนที่ใช้เวลาคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด ซึ่งนัทเคยใช้เวลานานถึง 3 วันในการทำข้อมูล เพราะต้องอ้างอิงจากเนื้อหาทฤษฎีเชิงวิชาการ ศาสตร์การเล่าเรื่องที่ยึดโยงศิลปะและหลักการต่างๆ ใช้เวลานาน

ส่วนขั้นตอน Production ของ Alsonut มีแค่การบันทึกเสียง ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เท่ากับว่าไม่มีส่วนของการถ่ายทำใดๆ ทั้งสิ้น จึงสามารถลัดขั้นตอนไปสู่การทำ Post-Production ที่ต้องหาภาพเคลื่อนไหวมาประกอบเสียง พร้อมกับตัดต่อและจัดวางที่นัทบอกว่าโหดไม่แพ้กับการเตรียมงาน ด้วยความที่นัททำคอนเทนต์เกี่ยวกับภาพยนตร์และงานเคลื่อนไหวต่างๆ กระบวนการนี้จึงต้องใช้ภาพประกอบจากภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอเป็นจำนวนมาก ไหนจะภาพประกอบต่างๆ ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน และการตัดต่อที่ใช้เวลาเพิ่มอีก 1-2 วัน

เท่ากับว่าคลิปๆ หนึ่งของ Alsonut ใช้เวลาจบกระบวนการประมาณ 1 สัปดาห์

และนัททำทั้งหมดนอกเวลางาน

The Mandatory of Storytelling

นัทใช้เวลาแค่ 6 เดือนในการทำให้ Alsonut มีผู้ติดตามรวมกันทั้ง Youtube และ TikTok เกือบ 50,000 คน ซึ่งยุคนี้ยากมากกว่าจะทำสถิติได้เร็วขนาดนี้

เราพยายามเค้นเอาเคล็ดลับความสำเร็จนี้ แต่นัทไม่ได้มีคำตอบอะไรมากมายให้เรานอกจาก

ความโชคดี

“อาจจะเป็นแค่เราโชคดี อาจจะไปถูกใจอัลกอริทึมสักอย่าง รู้สึกว่ามันก็เข้าถึงคนใหม่ๆ ที่เขาอยากดูเรา อาจจะด้วยจุดยืนเราไม่อยากเล่าในมุมที่เขาเล่าไปแล้ว อย่างถ้าเป็นวิธีการถ่าย เราอาจจะเล่าประเด็นเดียวกันแต่ว่าจะหาวิธีแบบทำไงให้เป็นเรา ซึ่งมุมนี้ก็ตอบยากว่าเราอาจจะโชคดีจนถึงจุดนึง

“พูดง่ายๆ ก็คือเราไม่ได้แคร์แมส เราอยากจะเล่าคนที่เขาชอบเหมือนกับเรา” นัทสรุป

ไม่ใช่แค่ยอดผู้เข้าชม ยอดคนกดไลก์ การอ่านคอมเมนต์ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่วัดกระแสตอบรับได้ดีมากๆ ก็เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งคำคอมเมนต์ส่วนหนึ่งมันมาจากน้องนักเรียนที่กำลังศึกษาหาความรู้ และค้นหาตัวเองเพื่อเป็นผู้กำกับ หรือเข้าสู่วงการโปรดักชั่น รวมถึงนักศึกษาสายนิเทศศาสตร์และภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพถึงคุณภาพคอนเทนต์ที่นัทผลิตออกมา ซึ่งมีประโยชน์กับพวกเขามากอีกด้วย

“หลักๆ เขาก็มีพิมพ์มาบ้างว่า ทำต่อนะครับ เพราะเนื้อหาประมาณนี้มันก็หาความรู้ยาก เพราะความรู้เรื่องหนังมันเคยดูไกลตัวสำหรับคนที่เขาไม่รู้ ถ้าเขาไม่เรียนนิเทศฯ แต่เขาชอบหนัง ซึ่งมันก็มีคนแบบนี้เยอะ หรืออย่างตอนเราเรียนมัธยม อยากรู้เรื่องนี้ เราไม่รู้จะหาความรู้ที่ไหนเลยในยุคเรา นั่นแหละ คำคอมเมนต์ทั้งหมดมันเลยบอกว่า คอนเทนต์เรามีคุณค่า แล้วก็เขาอยากให้เราทำต่อ” นัทอธิบาย

กำลังใจที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้นัทเห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำช่อง Alsonut คือ การเปิดระบบสมัครสมาชิกที่ค่อยๆ มีชาวช่องหน้าใหม่สมัครสมาชิกกันเรื่อยๆ ซึ่งนั่นทำให้นัทเริ่มมองเห็นถึงการเติบโตที่นัทยังศึกษาความรู้ต่างๆ เพื่อกลับมาเล่าในช่องของเขา

“ถ้าใครที่ดูคลิปในช่องเรา เราจะบอกว่า คอนเทนต์ที่เขาทำๆ กันแล้ว ที่มันดีอยู่แล้ว ก็จะเป็นเนื้อหาเชิงเทคนิค เชิงการจัดวางองค์ประกอบ การถ่ายทำซึ่งเขาก็ทำไว้ดีอยู่แล้ว อันไหนที่ดี บางทีเราก็จะบอกเลยว่า ไปดูช่องนี้เลยเพราะว่าเขาทำไว้ดีอยู่แล้ว เราจะไม่พูดซ้ำ เราก็สนับสนุนช่องเขา 

“ที่เราหาความรู้เพิ่มคือเรื่องของจุดเริ่มต้นในการคิดงานมากกว่า ถ้าจะไปดูคอนเทนต์ในช่อง ก็จะพูดถึงคำว่า Storytelling มันใช้ยังไงในชีวิตจริง หรือว่าถ้าคุณไม่ได้ทำงานสายโปรดักชั่น คำว่าการเล่าเรื่องมันสำคัญกับคุณยังไง หรือแม้กระทั่งการคิดบท การหาไอเดียการเล่าเรื่อง 

“อาจจะเป็นส่วนนี้มั้ง เราโฟกัสกับส่วนนี้คือ จุดเริ่มต้นของการเล่าเรื่อง แล้วคนที่มาดูก็จะเป็นคนที่เขาเริ่มสนใจหรืออาจจะสนใจอยู่แล้วแล้วมาหาเครื่องมือเพิ่ม แต่ถ้าคนโปรดักชั่นหาความรู้ ก็แล้วแต่หลายสายเลย เป็นสายเทคนิคก็ได้ ก็มีช่องที่ดีทำ อย่างการถ่ายยังไง การเล่าภาษาภาพยังไง แต่ตอนนี้ที่เราหาความรู้เพิ่มแล้วก็หามาเล่า จะเป็นเรื่องของจุดเริ่มต้นในการคิดงานซะมากกว่า”

Passion of Storyteller

“แล้วการเล่าเรื่องสำคัญกับคุณยังไง” เราถาม

“ถ้ามองจากว่าการเล่าเรื่องมีอิทธิพลยังไง เราโตมากับหนังสือการ์ตูน ถ้าเรามองก็คือ การเล่าเรื่อง เราจะสอบเข้ามหาลัย เราฟังเพลง เพลงมันก็เล่าเรื่องเรา มันก็เล่าเรื่องว่าต่อเติมความฝันไปให้ถึง ตอนเรียนก็ชอบหนัง หนังก็เป็นการเล่าเรื่อง รู้สึกว่าทุกช่วงเวลาของชีวิต หรือทุกวันเลยก็ได้ ทุกวันเราอยู่กับการเล่าเรื่อง ยิ่งวิชาชีพเรา สิ่งที่เราทำมันยิ่งเกี่ยวกับการเล่าเรื่องเลย ทั้งโฆษณา มิวสิกวิดีโอหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ เป็นการเล่าเรื่องทั้งนั้นเลย รู้สึกว่ามันก็เกี่ยวโยงกับเราแหละ 

“อย่างที่เราเคยพูดในช่องว่าคนมันต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นมากเพราะว่าเราเข้าใจบางสิ่งที่มันเป็นนามธรรม ก็คือการเล่าเรื่องนั่นแหละ มันทำให้เราเป็นเรา” นัทสรุป


About Storytellers

ทำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นงานหลัก มีครีเอทีฟเป็นงานรอง รับจ้างเขียนหนังสือเป็นงานเสริม เลี้ยงหมาชื่อปิ๊ดปี๋เป็นงานอดิเรก ทำแมกกาซีนออนไลน์เป็นงานเลี้ยงแพสชั่น และกำลังจะได้กลับไปสอนหนังสืออย่างที่เคยหวังไว้

ผู้ที่ชื่นชอบการ Backpack เที่ยวคนเดียวพร้อมกับกล้องคู่ใจ ออกเดินทางเพื่อตามหาสถานที่และมิตรภาพใหม่ๆ