“จับได้เลยครับ เป็นเหล็กทั้งอัน”
หลังได้รับเสียงอนุญาต เราก็เชยชมเหรียญที่ได้จากงานวิ่งอนิเมะ หรืองาน Jujutsu Kaisen RUN in Thailand 2023 อีเวนต์จากอนิเมะเรื่องมหาเวทย์ผนึกมาร โดยจัดในรูปแบบงานวิ่งมาราธอนที่จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งแน่นอนว่าเราเองที่ตื่นเต้นกับเหรียญรางวัลในงานวิ่งงานนี้ก็เพราะเราเป็นแฟนตัวยงของอนิเมะเรื่องนี้เช่นกัน
เจ้าของเหรียญรางวัลที่ให้เรายืมลูบๆ คลำคือ ฟลุ๊ค-อภิวัฒน์ ช่วยแสง เจ้าของและครีเอเตอร์ของเป็นแฟนกันเมะ ซึ่งนั่งข้างๆ กับแซน-ธนวิทย์ กิตติสถาพรพงศ์ พิธีกรร่วมของรายการ
เกริ่นกันมาขนาดนี้แล้วคงเดาได้ไม่ยากว่าเรามาพูดคุยกับทั้งคู่ว่าด้วยเรื่องอะไร เพราะถ้าให้ลองนับว่าคุณอ่านคำว่า “เมะ” ไปแล้วกี่คำ คงพอทำให้คุณถึงบางอ้อแล้วว่า
เรากำลังจะพาคุณเข้าสู่โลกของอนิเมะ
เป็นแฟนกันเมะคือ รายการพ็อดแคสต์และเพจที่เชื่อมโยงเหล่าคนรักอนิเมะให้ได้มาเจอและพบปะพูดคุยถึงอนิเมะเรื่องที่โปรดเหมือนกัน หรือเป็นการพูดคุยเพื่อป้ายยาให้คนที่ไม่เคยดูได้ลองไปเปิดใจดูตามๆ กัน
เป็นแฟนกันเมะจึงชัดเจนด้วยคอนเซปต์ที่อยากรวบรวมเหล่า “แฟนด้อม” ของ “อนิเมะเรื่องหนึ่งๆ” ให้ได้โคจรมาเจอกัน ซึ่งชื่อเป็นแฟนกันเมะเกิดจากคำพูดติดปากอย่าง เป็นแฟนกันไหม ผสมกับคำว่า อนิเมะ คำว่า “แฟน” จึงเป็นการล้อมาจากคำว่า “แฟนด้อม” เป็นแฟนกันเมะจึงหมายถึง
มาเป็นแฟนคลับของอนิเมะเรื่องนั้นกันไหม?
เป็นแฟนด้อมบนพ็อดแคสต์
เป็นแฟนกันเมะคือเพจที่ถูกฟลุ๊คต่อยอดมาจากกลุ่มพ็อดแคสต์ Feedpod เป็นพ็อดแคสต์ที่รวมกลุ่มคนจากต่างที่มาผ่านความชื่นชอบการเล่นเกมโชว์ด้วยชื่อ GSH+ เพื่อสร้างรายการอ่อนโซเชียล รายการว่าด้วยเรื่องข่าวสารโซเชียลที่คุยสัพเพเหระ มีสาระบ้างไร้สาระก็มี แต่คอนเทนต์ของพ็อดแคสต์ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดจากสิ่งที่ทุกคนหลงใหลและมีแพสชันกับมันเสมอ และแพสชันจากความชอบในสิ่งๆ หนึ่งทำให้เป็นแฟนกันเมะเกิดขึ้นมาหลังจากนั้น
“ผมกลับเข้าสู่วงการการดูอนิเมะปี 2564 ครับ ตอนนั้นผมรู้สึกชอบอนิเมะมากกว่าเดิม เลยลองคิดว่าคนรักอนิเมะอย่างเราๆ ควรจะมีพื้นที่ที่อยากจะให้คนที่ชอบในเรื่องเดียวกัน ได้เข้ามาคุยในพ็อดแคสต์บ้าง ซึ่งเทปแรกเลยคือ เราชวนแฟนด้อมมาคุยกันเรื่องไซคิ หนุ่มพลังจิตอลเวง
เราหลุดขำทันทีที่ได้ยินชื่ออนิเมะที่ฟลุ๊คกล่าวถึง ต้องบอกว่าอนิเมะเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเบาสมองที่มีความกวน ตัวละครไซคิที่เกิดมามีผมสีชมพูพร้อมกับเดินบนอากาศได้ทันทีที่ลืมตาดูโลก ว่ากันง่ายๆ คือเป็นอนิเมะที่พวกเราต้องถอดสมองดู
“ผมชอบเรื่องนี้มากนี่จึงเป็นเรื่องแรก และทำให้ผมตามหาว่าใครที่ยังติดตามเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่นบ้าง กระทั่งได้เจอคุณฝน ผู้ปลุกปั้นแฟนด้อมอนิเมะเรื่องไซคิขึ้นมา ผมเลยได้ไปชวนเขามาพูดคุยกัน จนเกิดเป็นตอนแรกขึ้นมาได้จริงๆ”
ฟลุ๊คเล่าให้ฟังสนุกๆ เพิ่มเติมถึงชื่อรายการว่า จริงๆ เคยมีการเปลี่ยนชื่อรายการอยู่หนหนึ่ง หลังจากที่ทำไป 2 ตอนแรกแล้วเกิดภาวะทางตัน เป็นชื่อมังเมะ-มันส์มะ เพื่อคาดหวังว่าจะขยายคอนเทนต์ให้กว้างกว่าเดิม แต่สุดท้ายก็ยังไม่กลับมาทำ จนกระทั่งมีเฟซบุ๊กแฟนเพจ CastCow ทำโพสต์โปรโมท 5 พอดแคสต์การ์ตูน ซึ่งมีชื่อเป็นแฟนกันเมะ ที่เป็นชื่อรายการเดิมอยู่ในนั้น
และยังมีครีอเตอร์อีกคนหนึ่งที่แชร์โพสต์นั้นแล้วทำให้ใจของฟลุ๊คพองโตมากๆ คือ กวง-ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส ที่ก่อนหน้านี้เขาทำรายการพ็อดแคสต์ในชื่อโลกคือการ์ตูน ของ The Standard Pop (ปัจจุบันเป็นโฮสต์รายการ 30 ยังจ๋อยของ The Matter) เขาบอกว่าชอบชื่อดังกล่าวนี้มาก เป็นแฟนกันเมะก็เลยไม่ถูกเปลี่ยนชื่ออีกเลย และก็กลายมาเป็นชื่อและตัวตนที่แข็งแรงมากๆ ของพวกเขา
หลังจากเทปแรกเสร็จสิ้นไป การจะมานั่งคิดกันเอาเองว่า จะเฟ้นหาอนิเมะเรื่องไหนมาป้ายยาหรือเฟ้นหาแฟนด้อมกลุ่มไหนมาพูดคุยกันดี ก็อาจจะไม่ตรงใจหรือไม่ทันกระแสในช่วงนั้นๆ เป็นแฟนกันเมะจึงใช้วิธีเปิดแบบฟอร์มรับความเห็น เพื่อให้เหล่าแฟนด้อมได้มากรอกข้อมูลป้ายยาอนิเมะในดวงใจของตัวเอง และถ้าหากใครสนใจเข้าร่วมการพูดคุยก็สามารถอาสาหรือเสนอคนรู้จักเข้าไปกันได้ โดยไม่ต้องเกร็งว่าคุณจะต้องเป็นเซียน ไม่ต้องนั่งเขียนสคริปต์ว่าคุณต้องพูดถึงอนิเมะเรื่องนั้นๆ เป็นขั้นเป็นตอนตามบท ไม่ต้องถึงขั้นเป็นแฟนพันธุ์แท้ชนิดที่ต้องตอบได้ตัวละครหลักมีผมกี่เส้น เพราะเป็นแฟนกันเมะคือพื้นที่สำหรับเหล่าแฟนด้อมที่อยากแบ่งปันอนิเมะที่เขารัก ให้คนอื่นๆ ได้มารักเรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยกัน
เป็นแฟนกันเมะเพิ่งจบซีซันที่สี่ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แบ่งเป็นซีซั่นละ 12 ตอน ที่มีทั้งการพูดคุยอนิเมะ และเนื้อหาพิเศษพิเศษที่อาจจะมีหัวข้อมาคุยกับแขกรับเชิญสุดพิเศษ เช่น จูน-อิทธิพล มามีเกตุ นักพากย์ชื่อดัง หรือโจ้-นทธัญ แสงไชย Station Director ของ Salmon Podcast
เรียกได้ว่าเป็นระยะเวลากว่าสองปีที่มีเหล่าแฟนด้อมจากหลายทิศหลากความชื่นชอบ ได้มารวมตัวพูดคุยและแลกเปลี่ยนพลังงานดีๆ จากความชื่นชอบเดียวกันให้แก่กัน ฟลุ๊คอธิบายให้เราฟังต่อว่า
“แขกรับเชิญของเรา หลายคนเคยขี้อายมาก่อน เพราะรายการพ็อดแคสต์กับเรื่องอนิเมะมันเป็นความแปลกใหม่ที่ในประเทศไทยยังไม่ได้มีอยู่ทั่วไปด้วย ในช่วงการพูดคุยสิบนาทีแรกอาจจะยังเกร็งๆ แต่พอได้คุยไปเรื่อยๆ ได้คุยถึงฉากที่ชอบ หรือตัวละครที่ชอบ กลายเป็นว่าแขกทุกคนที่มาเข้าร่วมกับเรา มักได้รับการปลดปล่อยโดยไม่รู้ตัว และพวกเราเองก็สนุกเต็มที่ไปกับเขาด้วยจริงๆ”
“และที่สำคัญคือ หลายคนที่มาเป็นแขกของเราส่วนหนึ่งก็เพราะ เขายังไม่เจอใครชอบอนิเมะเรื่องเดียวกันกับเขา แถมไม่รู้ว่าจะไปป้ายยากับใคร แต่รายการของเรารับคุยอนิเมะทุกเรื่องที่มีช่องทางถูกลิขสิทธิ์ แม้ไม่ได้เห็นผ่านแววตา แต่เราก็สัมผัสทางน้ำเสียงได้ว่า นี่คือน้ำเสียงแห่งความชื่นชอบของแฟนด้อม ที่มีแพสชันต่ออนิเมะสักเรื่อง และน้ำเสียงที่มีพลังใจเต็มเปี่ยมเหล่านั้นทำให้พวกเรายังอยู่ตรงนี้นะ” ฟลุ๊คสรุป
นอกจากที่เป็นแฟนกันเมะจะคุยเรื่องของนักพากย์อนิเมะ หรือที่เรียกว่าเซย์ยูอยู่ในรายการบ่อยๆ ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากทั้งจากพิธีกร และผู้ร่วมรายการ
“คือมันเป็นการแลกเปลี่ยนกันว่าใครพากย์เป็นตัวละครไหน เคยพากย์เรื่องอะไรมาก่อน จนผมมาคิดว่า เรื่องเซย์ยูมันน่าพูดพอๆ กับอนิเมะและมังงะเลย ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา เลยได้พูดคุยกับเพจเพื่อนบ้านอย่าง KritNibyou (กิตนิเบียว) ชวนหยิบเรื่องเซย์ยูมาต่อยอดเป็นรายการใหม่ที่ชื่อ SAY 2 SEIYUU โดยมีคอนเซปต์ที่คล้ายกันครับ” ฟลุ๊คว่า
หลังจากไอเดียที่จะทำรายการที่ว่าด้วยเซย์ยูเป็นรูปเป็นร่าง ขยายความคือ การนำแฟนคลับของเซย์ยูคนนั้นๆ มาโปรโมทและพูดคุยเกี่ยวกับเขาหรือเธอผู้เป็นเซย์ยู และมีการประกาศรับสมัครผู้ร่วมรายการ ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากๆ เพราะจากตัวเลขผู้สมัครกว่า 30 คน และผลตอบรับเชิงบวกเมื่อรายการออกอากาศจริง ทีมเป็นแฟนกันเมะเลยขยายจักรวาลออกมาอีกเป็น SAY 2 THAISEIYUU ขึ้นมา ด้วยคอนเซปต์เดิม เพิ่มเติมคือ นำเสนอเรื่องของนักพากย์ไทยอย่างจริงจังจากปากแฟนอนิเมะ ที่ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน
คุยด้วยรัก-ทำด้วยแพสชัน
นอกจากฟลุ๊คที่เป็นตัวตั้งตัวตีที่พาเหล่าแฟนด้อมมาอยู่จักรวาลเดียวกันได้ แต่คนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในรายการพ็อดแคสต์นี้คือหน้าที่พิธีกร ซึ่งในซีซันที่ 4 นี้ เป็นซีซันล่าสุดที่แซนได้มาทำหน้าที่พิธีกรแบบสุดตัว
สุดตัวที่ว่าคือต้องทุ่มใจทุ่มเวลาดูอนิเมะหลายร้อยตอนจนสุดตัวเพื่อมาจัดรายการนี้นั่นเอง
“ผมเข้ามาเป็นพิธีกรในซีซันล่าสุดซีซันเดียวครับ ซึ่งซีซันนี้ก็มี 12 ตอน และใน 12 ตอนนี้ก็ไม่ใช่ว่าผมเองเคยดูครบทุกเรื่อง ผมเคยดูและรู้จักอยู่แล้ว 5 เรื่อง นอกนั้นผมต้องใช้เวลากับมันและไปดูให้ครบครับ แต่ถ้ากรณีที่ดูไม่ทันจริงๆ อย่างน้อยๆ ผมต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของอนิเมะเรื่องนั้นๆ ให้ได้ก่อน เพราะถึงแม้จะด้นสด แต่เราด้นสดอยู่กับความชื่นชอบของแขกรับเชิญ เลยต้องใส่ใจกับการสร้างบรรยากาศระหว่างอัดเทปด้วยครับ”
“อย่างเรื่อง บลีช เทพมรณะ อนิเมะซีรีส์มีสองร้อยกว่าตอน ผมก็ไปจนครบรวมถึงดูภาคใหม่ด้วย ซึ่งถ้าให้พูดจริงๆ ในปีนี้สำหรับการอัดเทปรายการเป็นแฟนกันเมะ ผมน่าจะดูไม่ต่ำกว่าห้าร้อยกว่าตอนแล้ว”
ยอมรับว่าเราเองก็อึ้งไปนิดหนึ่งเช่นกัน เพราะผู้เขียนเองที่รักการดูอนิเมะสามมื้อหลังอาหาร ยังต้องใช้เวลาหลายเดือนค่อนปี กว่าที่จะไล่เรียงดูอนิเมะซีรีส์ที่มีหลายร้อยตอนได้แบบไม่รู้สึกเหนื่อยและยังคงสติเข้าใจเนื้อเรื่องได้อยู่ ต้องขอชื่นชมความมุ่งมั่นนี้กับสกิลการทำการบ้านในการเป็นพิธีกรของแซนจริงๆ
“ความใส่ใจคือ DNA ของเป็นแฟนกันเมะ ต้องบอกว่าในสังคมยังมีอคติอยู่ว่าอนิเมะมีไว้เพื่อเด็ก หรือไร้สาระ แต่ผมมองว่าผู้ใหญ่หลายคนก็ยังมีมุมที่เป็นเด็กเหมือนกันทุกคน ซึ่งบางครั้งอนิเมะก็เสริมให้ความเป็นเด็กของเรายังสมบูรณ์ได้ และอนิเมะหลายๆ เรื่องมักมีดีในแบบของตัวเอง แถมบางเรื่องยังสอนวิชาชีวิตหลายๆ แง่ ทั้งความรัก ความคิด หรืออุทาหรณ์อย่างดีที่ทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ซึ่งผมอยู่ตรงนี้ด้วยความเชื่อที่ว่า บนโลกนี้ยังมีอนิเมะดีๆ อีกมากที่รอให้ทุกคนได้ค้นพบ ได้ชื่นชอบ ได้ตกหลุมรัก และได้ให้เป็นแฟนกันเมะมาได้ค้นพบเพื่อเชื่อมโยงทุกคนเข้าหากัน” ฟลุ๊คเสริม
เราเชื่อว่าแพสชันอันแรงกล้าของคนเรามักมีผลต่อแนวคิด รสนิยม จนไปถึงการใช้ชีวิต แล้ว “อนิเมะ” มีอิทธิพลอย่างไรต่อทั้งคู่บ้าง?
“เราอยู่กับการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กเลยนะ และผมเองก็รู้ตัวมาตลอดเลยว่าการ์ตูนมันให้แง่คิดกับเราเสมอ หลายอย่างที่ผมเองก็ซึมซับและเชื่อว่าตัวเองก็เป็นคนดีอย่างในการ์ตูนได้นะ เพราะการ์ตูนมันก็เหมือนหนังที่มักให้ข้อคิดกับเราเหมือนกัน และอนิเมะก็ยังเติมสิ่งที่ขาดให้กับผมด้วย อย่างถ้าชีวิตขาดหวานก็ไปดูอนิเมะเลิฟ-คอมเมดี้ ถ้าอยากตื่นเต้นก็ไปดูอนิเมะแฟนตาซี-แอคชัน” แซนอธิบาย
เราเข้าใจกับสิ่งที่แซนพยายามจะส่งมาถึงเรา เพราะสังคมเราในปัจจุบันยังติดภาพจำว่า คนที่ดูอนิเมะมักไร้สาระ การดูอนิเมะไม่เหมาะสำหรับเด็กเพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (พฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่รุนแรงมากอาจจะถูกนิยามด้วยคำว่า “เบียว”)
“การทำรายการนี้เราได้เจอคนเยอะมากๆ เราได้เห็นคนที่ทัศนคติที่ต่างกัน ซึ่งทุกคนล้วนเป็นคนที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ มีมารยาท และไม่ได้มีแนวคิดแปลกๆ ซึ่งถ้าเราพูดเรื่องพฤติกรรมเลียนแบบ ผมมองว่าเรื่องนี้อยู่ที่ตัวบุคคลและวิธีเสพสื่อ เราเลือกที่รับสิ่งดีๆ และทิ้งสิ่งที่ไม่ดีออกไปได้ เพราะไม่ใช่แค่เกมหรือการ์ตูนที่คนเสพต้องรู้จักวิธีเสพสื่อ แต่หนังและละครก็เป็นรูปแบบเดียวกัน โดยพื้นฐานของวิธีการเสพก็เกิดขึ้นจากการหล่อหลอมของหลายๆ สถาบัน เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวเลย ฉะนั้นไม่ใช่แค่ต้องชี้ว่าสื่อไม่ดี แต่ต้องดูองค์ประกอบร่วมอื่นๆ ด้วยครับ”
นอกจากความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่และคอมมูนิตี้สำหรับคนรักอนิเมะให้มาเจอกันแล้ว เราเชื่อว่าแพสชันของทั้งคู่นำมาซึ่งสิ่งที่เติมเต็มหัวใจบางอย่าง และอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นแฟนกันเมะจะยังคงยืนหยัดในวงการอนิเมะต่อไปได้อีกนาน
“จริงๆ นี่เป็นโปรเจกต์ที่ทั้งรักทั้งเกลียดเลย ในขั้นตอนการตัดต่อคือสิ่งที่ผมไม่ชอบที่สุด แต่สิ่งที่ทำให้หายเหนื่อยคือระหว่างกระบวนการการบันทึก ผมชอบตัวเองตอนได้พูดคุยและอยู่กับแฟนด้อม ผมดีใจที่พวกเราคุยกับแฟนด้อมได้อย่างสบายใจ ได้มอบประสบการณ์ในแบบที่พวกเขาไม่เคยได้ครับ ดีใจที่แขกทุกคนรู้สึกสนุกสนานกับอนิเมะในดวงใจ ผมเลยคิดอยู่เสมอว่า หากจะรับความสุขแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็คงไม่เสียหาย เป็นแพสชันแรงกล้าที่หวังว่ามันจะเป็นอาชีพของเราได้จริงๆ ในสักวันครับ”
ฟลุ๊คขยายความพร้อมกับแอบกระซิบให้เราฟังว่า เป็นแฟนกันเมะมีภาพวาดฝันในอนาคตที่อยากจะมีงาน Anime Expo สักงานขึ้นมา แต่เป็นงานที่จะตั้งบูธอนิเมะเฉพาะเรื่อง เพื่อให้คนเข้าร่วมงานได้เดินดูบูธแต่ละบูธเฉพาะเรื่องกันไปเลยว่า อนิเมะประจำบูธนั้นๆ ควรค่าแก่การไปตามดูขนาดไหน หรือถูกใจโดนสไตล์ของตัวเองหรือไม่ แม้จะเป็นฝันอีกยาว แต่ทั้งฟลุ๊คและแซนก็อยากจะเห็นภาพเหล่านี้เกิดขึ้นจริง
ก่อนจะจากลาฟลุ๊คและแซนในวันนี้ เราเลยขอให้ทั้งคู่ทิ้งทวนบทเรียนที่ได้รับ จากการลงมือทำเป็นแฟนกันเมะแบบสั้นๆ สักคนละหนึ่งบทเรียน
“การ์ตูนสอนให้รู้ว่ายังมีข้อคิดและชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ที่เราไม่เคยพบเจอเสมอ” -แซน
“การ์ตูนสอนให้รู้ว่า นี่เป็นอีกพื้นที่ที่ทำให้คนจากต่างที่โคจรมาเจอกันได้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราคงไม่ได้เจอกันด้วยความชอบเดียวกันครับ” – ฟลุ๊ค