เรานั่งคุยกับน้ำอบ และน้ำทิพย์ ไชยจินดา สองพี่น้องผู้ปลุกปั้น Kintaam (กินตาม) แบรนด์ไอศกรีมแซนด์วิชที่มีฉากหลังหลักๆ อยู่ในสองหัวเมืองใหญ่ทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งพวกเธอเพิ่งเปิดหน้าร้าน Kintaam at Sathorn ได้ไม่นาน

จนถึงวันนี้ที่กินตามเปิดหน้าร้านจริงจังที่เชียงใหม่บนถนนสุเทพ หน้าโรงแรมพิงค์พยอม 

สองพี่น้องประสานมือกันทำไอศกรีมในช่วงโรคระบาดเล่นงานเมือง จนมาถึงการต่อยอดธุรกิจที่ไกลกว่าหลังครัวที่บ้าน คุกกี้เนยสองชิ้น ห้ารสชาติไม่ซ้ำ ประกบกับไอศกรีมที่ผ่านวิธีการเลือกสรรวัตถุดิบ วิธีคิดในการเล่นสนุกกับชิ้นคุกกี้และรสชาติของไอศกรีมหลากรส ทำให้กินตามเป็นแบรนด์ไอศกรีมที่สนุก ซน และมีเฉดการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากไอศกรีมโฮมเมดหลายๆ แบรนด์ในตลาด

ความซน สนุก และอร่อย (สำคัญมาก!) ของกินตามค่อยๆ เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ จนพวกเขาเริ่มติดตลาดทั้งสองพื้นที่ทั้งเมืองหลวงและเมืองรอง พวกเขากลายเป็นแบรนด์ไอศกรีมแซนด์วิชที่หลายคนต้องตามไปกิน หลายสื่อพูดถึงเขา จนเริ่มมีพาร์ทเนอร์และแบรนด์มาขอร่วมงานกับเขา อย่างล่าสุดกับไอศกรีมที่กินตามร่วมออกแบบกับ Curapox แบรนด์แปรงสีฟันและยาสีฟันระดับโลก ซึ่งขายที่หน้าร้านเชียงใหม่เท่านั้นด้วย!

เราเห็นธุรกิจที่ “ทำตลาด” ในสองพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และประสบความสำเร็จทั้งสองพื้นที่ได้ไม่มากนัก ซึ่งสองพี่น้องได้สัมผัสถึงความท้าทาย การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ในทุกเมื่อเชื่อวัน การปรับตัวเพื่อทำธุรกิจในสองตลาดที่ต่างกันสุดขั้ว และการใช้ความคิดสร้างสรรค์เล่าเรื่องจนหลายคนอยากตาม-ไปกินกินตาม

และแน่นอน แพสชั่นของสองพี่น้องที่ทำธุรกิจจากเรื่องเล็กๆ ในครอบครัว จนมันใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น แบบที่พวกเขาก็ไม่ได้ทัดทานเหมือนกัน

จุดเริ่มต้นจากกิจกรรมช่วงกักตัว

ไม่ได้แตกต่างจากหลายๆ ธุรกิจที่ต่อยอดได้จนถึงทุกวันนี้ กินตามเริ่มจากกิจกรรมสันทนาการในครอบครัว จากความว่างในช่วงกักตัวที่ครอบครัวของสองพี่น้องเลือก “หาอะไรทำ” ในช่วงปิดเมือง ครอบครัวนี้เลือกการทำขนมอบเป็นกิจกรรมยามว่างตั้งต้น

น้ำทิพย์เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีก็ทำขนมอบง่ายๆ ทั่วไป คุกกี้ บราวนี่ ขนมปัง ทำหมด จนมาถึงช่วงเดือนเมษายนที่เป็นช่วงเวลาร้อนปรอทแตกของปี ทั้งน้ำทิพย์และน้ำอบเลยลองชวนแม่มาทำไอศกรีมกันกินเพื่อรับช่วงซัมเมอร์

แต่สองพี่น้องก็เกิดไอเดียทวิสต์ไอศกรีมง่ายๆ ให้มันสนุกขึ้น ถึงแม้จะเป็นไอเดียจากการทำอะไรกินง่ายๆ ที่บ้าน แต่มันก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจไม่หยอกเลย

“การที่เราทำไอติมแล้วมันสามารถเติมอย่างอื่นได้ เช่น บวกเป็นแซนด์วิช เราก็เลยลงล็อกว่า โอเค ไอติมที่อร่อยมีคนทำเยอะอยู่แล้ว เราก็ไม่อยากจะไปเป็นอีกคนที่ทำอีก เรารู้สึกว่าอย่างนั้นก็หาผลิตภัณฑ์ที่มันไม่มีในตลาดไปเลย แล้วขายเฉพาะอย่างเดียว คือมีแต่ไอติมแซนด์วิช ไม่ขายเป็นสกุ๊ป ไม่ขายแค่ไส้ แต่ขายเป็นไอศกรีมแซนวิชไปเลย” น้ำทิพย์เล่า

ไอศกรีมรสแรกจริงๆ ของสองพี่น้องคือ กล้วยหอมเนยถั่ว ซึ่งก็เป็นวัตถุดิบง่ายๆ ที่หาได้ทั่วไป สองพี่น้องไม่ได้มีความรู้เรื่องอาหารมากนัก ทำตามสูตรไอศกรีมในตำราอาหารฝรั่งเท่านั้น 

ซึ่งจริงๆ ทั้งสองคนมีดำริแค่ทำไอศกรีมเป็นงานอดิเรก เพราะในตลาดเชียงใหม่ก็มีคนทำไอศกรีมโฮมเมดขายเป็นเรื่องเป็นราวอยู่แล้ว แต่พอไอศกรีมที่ทำเสร็จออกมาให้พี่น้องในครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ชิมก็ติดอกติดใจ

และคิดว่า ทำขายดีมั้ย

“พอทำเสร็จแล้วก็มาชิมกันในครอบครัว แล้วก็ให้เพื่อนชิมด้วย มันก็เลยเหมือนเริ่มแค่ ไม่คิดว่าจะทำธุรกิจ แค่ลองทำสักโปรเจคต์ขายออนไลน์ เพราะว่ามันเป็นยุคที่ทุกอย่างขายออนไลน์ คุยกันเหมือนกันค่ะว่าถ้าไม่ได้อยู่ในช่วงโควิด อาจจะไม่ได้ทำ อาจจะไม่กล้าทำ เพราะเหมือนว่ามันต้อง การ-การเป็นหน้าร้าน การเป็นคาเฟ่ คือไม่ใช่เรื่องที่เราถนัด แต่ถ้าพอมันเริ่มยุคโควิด เหมือนทุกอย่างมันสามารถทำได้ที่บ้าน และแค่ส่งของออนไลน์ได้เลย มันก็เลยรู้สึกว่าข้อจำกัดการเป็นยุคโควิด มันสามารถให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้น” น้ำอบว่า

และจุดเริ่มต้นของร้านไอศกรีมเล็กๆ ของสองพี่น้องก็เริ่มต้นขึ้น

ผลลัพธ์คนละอย่างกันเลยนี่นา

การเปิดธุรกิจทุกอย่าง ย่อมมีความเสี่ยง

แต่ความเสี่ยงของกินตามไม่ได้ใหญ่มาก เพราะด้วยการเปิดหน้าร้านออนไลน์ และมีสถานที่นัดรับสินค้าคือ บ้าน จึงไม่ได้นับว่าเป็นการลงทุนอะไรมากมาย 

แต่จริงๆ ความเสี่ยงที่ทั้งสองคนบอกเราคือ ความไม่รู้

“ถ้านึกย้อนไป ความเสี่ยงจริงๆ คือ การที่เราไม่รู้ มันก็เลยเหมือนกล้าทำ กล้าเสี่ยง เพราะก็ไม่ได้รู้ว่ามันจะเสียอะไร อาจจะคิดเยอะแล้วก็ไม่ทำ” น้ำอบตอบเรา

“เพราะว่าเราไม่ได้ลงทุนด้วยค่ะ เหมือนเราไม่ได้มากางแผนธุรกิจ หรือคิดต่อว่า เราจะทำธุรกิจ มันต้องมีเงินลงทุนเท่าไหร่ๆ ทีนี้มันเลยเหมือนก็ไม่รู้ว่ามันไม่มี หรือแค่เราไม่ได้ประเมินก่อนทำ เพราะว่าถ้าประเมินแบบถี่ถ้วนมากก็อาจจะไม่ทำก็ได้ ถ้ารู้เยอะอาจจะไม่ทำ” น้ำทิพย์เสริม

กลายเป็นว่าเมื่อเปิดหน้าร้านออนไลน์บนแอปพลิเคชั่นส่งอาหาร ในรอบ 6 เดือนแรก กินตามมีออเดอร์แบบนับนิ้วได้ 

หรือให้แปลไทยเป็นไทยคือ ออเดอร์น้อยมาก

ทั้งน้ำอบและน้ำทิพย์บอกเราว่า ต่อให้การทำธุรกิจไอศกรีมแบบพึ่งพาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ หรือหน้าร้านออนไลน์ที่สามารถรับของได้เองที่หน้าบ้านของพวกเธอ สองพี่น้องก็เริ่มเกิดความสงสัยและไม่มั่นใจในตัวเอง ถึงแม้ทั้งคู่จะบอกว่ามันคือความกล้าเสี่ยงก็ตามที

แต่เพราะทั้งน้ำอบและน้ำทิพย์เรียนปริญญาตรีอยู่ที่กรุงเทพ และมีที่พักอาศัยอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว ก็เลยลองทำไอศกรีมแซนด์วิชแบบเดียวกันกับที่ทำขายที่เชียงใหม่ด้วย ขายที่กรุงเทพด้วย คู่ขนานกันไปในราคาเดียวกันคือ 75 บาท

ซึ่งเมื่อลองขายที่กรุงเทพ น้ำอบและน้ำทิพย์พบว่า ลูกค้าเปิดใจ เข้าใจ และให้โอกาสแบรนด์ผ่านการอุดหนุนโดยไม่ต้องคิดมาก ซึ่งจะต่างจากการทำตลาดที่เชียงใหม่ที่เมื่อเห็นราคาแล้วก็ต้องตกใจ

“พอตั้งแบรนด์ก็เลยขายทั้งสองที่ไปพร้อมๆ กัน ทีนี้มันเจอข้อแตกต่างคือ คนกรุงเทพเขาขับรถมารับไอศกรีมที่คอนโดได้ ทักมาสั่งในไลน์ด้วย แต่เชียงใหม่ออเดอร์จากแอปเงียบ เราก็เลยเกิดข้อเปรียบเทียบสองจังหวัดตั้งแต่แรกเลย ทีนี้มันก็เลยเป็นจุดที่ดำเนินต่อมาว่า เราเลยอยากมาทำร้านจริงจังที่กรุงเทพก่อน เพราะรู้สึกว่ากำลังคนซื้อเยอะกว่า แค่นั้นเลย”

ครีเอทในแบบกินตาม

“ความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจหลักเลย” น้ำอบย้ำเมื่อเราถามเรื่องประเด็นของความคิดสร้างสรรค์

หนึ่งในแท็กไลน์ของกินตามคือ Creative based Ice Cream Sandwich maker. ซึ่งเมื่อแปลเป็นไทยจะได้คำว่า นักผลิตไอศกรีแซนด์วิชที่มีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์

ถ้าใครมีโอกาสได้ดูลิสต์รสชาติไอศกรีมของกินตามแล้วจะพบว่า นอกจากมีรสชาติมาตรฐานง่ายๆ แล้ว ยังมีรสชาติมันส์ๆ ที่ผ่านการคิดที่สนุกมาแล้วอีกหลายรสชาติ และนำเอามาเล่าเรื่องเป็นรสชาติในไอศกรีมได้เข้าท่ามากๆ ซึ่งเราก็อยากรู้ว่าวิธีคิดเหล่านี้มันมาจากอะไร 

“พอทิพย์เรียนฟิล์มใช่มั้ย ทิพย์ถูกสอนว่าอย่างมันก็ต้องมี Concept ทุกอย่างมันต้องมีเรื่องเล่าว่า เราจะเล่าอะไร มันไม่ใช่แค่ว่าไอศกรีมรสไหนรสนึงแล้ว ก็คิดว่าทำขำๆ ก็ได้ เลยทำเป็นคอนเซปต์ขึ้นมา 

“อย่างช่วงหนึ่งที่เราทำซีรีส์ชื่อสีเพี้ยน เราทำตอนช่วงซัมเมอร์ แล้วทุกคนก็จะนึกถึงไอศกรีมผลไม้ เราก็เลยรู้สึกว่าโอเค การเป็นผลไม้มันมาด้วยเรื่องของสีสัน ส้ม แดง เหลือง เขียว เราก็เลยรู้สึกว่าตอนนั้นอ่านหนังสือเพื่อรีเสิร์ชเรื่อง สิ่งที่ตามองเห็นกับรสชาติที่ลิ้นสัมผัส เหมือนเราเห็นสีแดง เรากินไปแล้วเราก็รู้สึกว่ามันจะหวาน เราเห็นสีนี้มันก็น่าจะต้องขมนิดนึง มันจะนำความรู้สึกเรา เรารู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นทำไอติมผลไม้โดยที่เราจะเปลี่ยนสีย้อมมันหมดเลย อย่างเช่นมะม่วงเป็นสีเขียว ตัวสตรอว์เบอร์รีเราจะใส่ให้มันเป็นสีเหลือง เหมือนทำให้ทุกอย่างมันเพี้ยน เพื่อให้เหมือนเล่นกับการรับรู้ของคน” น้ำทิพย์ยกตัวอย่าง

“ก็คือสตรอว์เบอร์รีเป็นสีเหลืองที่มีเยลลี่ มันคือรสเดียวกันเลยค่ะ สตรอว์เบอร์รีเยลลี่ แต่ว่าคอนเซ็ปต์คือสีเพี้ยน แล้วใช้สตรอว์เบอร์รีสีเหลือง ประมาณนั้น หรือมะม่วงอกร่อง ปกติมันจะต้องเหลือง แต่ว่าเราใส่ผงสาหร่ายให้มันเป็นสีเขียว เพราะเราตีความว่า มะม่วงจะต้องเป็นมะม่วงดิบหรือเปล่า มันเป็นเขียว แต่ว่ารสชาติก็รู้สึกว่ามันแปลกไปจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะบอกว่าเป็นรสมะม่วง แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นมะม่วงสุกเลย ” น้ำอบเสริม

ไอเดียบางอย่างที่สองพี่น้องเลือกพัฒนามา ก็มีบางอันที่เข้าท่า แต่บางอันก็ไม่เวิร์ก อย่างเช่นซีรีส์ไอศกรีมซอร์เบต์ (Sorbet) ที่ประกับกันเป็นแซนด์วิชแล้วไอศกรีมผลไม้ 3 รสคือ กระเจี๊ยบ มะม่วง และกีวี่ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่มีไอเดียวิ่งเข้ามาคือ การทำไอศกรีมที่ไม่มีส่วนผสมหลักเป็นนม แต่น่าเสียดายที่ไอเดียนี้ออกขายจริงแล้วไม่ได้ผลตอบรับที่ดีเท่าที่ควร 

“แต่เราไม่ได้เสียกำลังใจนะ แต่เซ็ง” น้ำทิพย์ตัดพ้อแกมหัวเราะ

เราเองที่เคยสั่งไอศกรีมจากกินตามไปแจกกับพี่ๆ ที่เคารพในวงการสื่อและเอเจนซี่ ก็เลือกรสชาติจากความสร้างสรรค์ของทั้งตัวรสชาติ ไอเดีย และการเล่าเรื่อง โดยตอนนั้นเราเลือกช็อกแสบ ที่เป็นช็อกโกแลตพริก และไบรท์จัง มะนาวบัตเตอร์แซนด์วิชมานำเสนอตัวตนให้เข้ากับแบรนด์สื่อที่เราทำงานในตอนนั้น 

แค่นี้ก็พอยืนยันได้แล้วว่ากินตามเจ๋งในความสร้างสรรค์มากขนาดไหน

คนเมืองก่อต้องใจ๊คัวคนเมืองก่าเจ้า

วิสัยทัศน์หนึ่งของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ที่เรามักสัมผัสได้ และมองเห็นว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้นคือ การอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน

กินตามพูดเรื่องนี้ไปหลายครั้งแล้วในพื้นที่สื่อ ซึ่งเราเห็นด้วยและชื่นชมมากๆ ที่กินตามมีแนวทางนี้ ซึ่งนอกจากที่การเลือกวัตถุดิบจากแหล่งโดยตรงจะทำให้เราได้ไอศกรีมที่อร่อย คุณภาพเน้นๆ แล้ว สองผู้ก่อตั้งบอกว่า นี่คือความหลากหลายที่จะทำให้สังคมแข็งแรงขึ้น

“ยิ่งมีความหลากหลายเยอะ ทุกคนจะยิ่งช่วยกันให้สังคมมันแข็งแรงขึ้น เพราะว่าต่างคนก็เหมือนโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองถนัดว่า ฉันทำนมอย่างเดียว ฉันทำวิปครีมอย่างเดียว ฉันทำเนย ฉันปลูกผลไม้นี้อย่างเดียว ก็ยิ่งมีความหลากหลาย ไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวเจ้าเดียว อยากจะตรึงราคาขายเท่าไหร่ก็ได้ ความหลากหลายอย่างนี้ก็คือเป็นเรื่องที่มันต้องมีอยู่แล้ว ที่นี้เราก็เลยอยากอยากอุดหนุนทุกๆ เจ้าเพื่อให้ทุกคนอยู่ต่อได้ เพื่อให้มันมีความหลากหลาย” น้ำทิพย์บอก

“แต่อะไรที่มันที่รายเล็กแล้วเราอยากช่วยเหลือ บางคนอาจจะไปห้างค้าส่งแล้วง่าย มันมีทุกอย่าง แต่ถ้าเรามีช่องทางได้อุดหนุนคนที่เป็นตัวเล็กตัวน้อยเหมือนกัน ผู้ประกอบการรายเล็กที่เขาจะต้องทำเหมือนเรา เพราะเรามาจากสเกลเล็กจริงๆ เราก็เข้าใจกันว่า เราช่วยกันดีกว่า ยังไงความหลากหลายก็คือสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้วที่ทุกคนมี” น้ำอบเสริม

กินตามเลือกใช้นมจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้วิปครีมของโรงงานท้องถิ่นที่ชื่อ Dacheeso ที่ผูกปิ่นโตกับร้านอาหารในเชียงใหม่มานาน รวมถึงชาจากไร่ที่เชียงราย เลม่อนจากไร่ที่ดอยอินทนนท์ หรือผลไม้ และสมุนไพรบางชนิดเช่น ขิง จากตลาดใกล้บ้านที่เชียงใหม่

“เพราะ Suppliers มาจากหลากหลายที่ เพราะเราไม่ได้ซื้อที่เดียวเป็น One Stop Service  มันยากทั้งเรื่องการต้องติดต่อ Suppliers หลายเจ้า หรือรับส่งหลายรอบอย่างวันนี้นมไม่มาส่ง อันนี้คือความเสี่ยงที่จะต้องรับกับเจ้าเล็กๆ แต่เราก็ยังทำเพื่อให้ทุกคนได้กระจายรายได้” น้ำอบขยายความ

“ถ้าสมมุติว่าร้านเล็กๆ อย่างเรามันใหญ่ขึ้นได้ เราก็จะสามารถดีลกับเขาได้เยอะขึ้น และเขาก็จะมีความมั่นคงทางคู่ค้าธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วยว่า กินตามซื้อเท่านี้ๆ มันก็เหมือนว่าถ้าเราโตขึ้น เขาก็โตขึ้นด้วย” น้ำทิพย์เล่าเพิ่ม

โอ้โฮบางกอก

จากข้อเปรียบเทียบในการเปิดขายออนไลน์ทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพ น้ำอบและน้ำทิพย์เลยคุยกันว่า อยากลงมาทำหน้าร้านที่จริงจังจริงๆ ที่กรุงเทพเลย ยิ่งซาวเสียงผ่านการออกอีเวนต์ และการคาดคะเนเรื่องยอดขายและการเติบโต ยังไงก็ต้องเป็นหน้าร้านกรุงเทพก่อนอย่างแน่นอน

“จริงๆ คือเราอยากเปิดที่กรุงเทพฯอยู่แล้วตั้งแต่แรกค่ะ แค่ยังไม่มีจังหวะ รู้อยู่แล้วว่าถ้าต้องเลือกว่าจะต้องเปิดเชียงใหม่หรือว่ากรุงเทพฯ ยังไงก็เปิดกรุงเทพฯก่อนเพราะว่าเราเห็นหน้าตาลูกค้าเวลาเราออกอีเวนต์” น้ำอบว่า

“คือเราก็ไม่ได้มีทุนมาจากไหน พอทุนมันจำกัด ก็เลยต้องคิดว่ามันทำไม่ได้เยอะหรอก ต้องโฟกัสว่าจะทำอะไรก่อน เชียงใหม่ก็ค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว เพราะทุกอย่างมันถูกกว่าในแง่ของค่าใช้จ่ายและต้นทุน แต่พอเป็นเชิงสัดส่วน ที่กรุงเทพยังไงก็คุ้มกว่าอยู่แล้ว” น้ำทิพย์เสริม

เมื่อสองพี่น้องจับมือกันแน่น ภารกิจตามหาทำเลร้านที่กรุงเทพก็เริ่มขึ้นตั้งแต่การหาทำเล ที่อยากได้ความสะดวกในการเดินทางไปเฝ้าร้าน และเป็นทำเลที่ลูกค้าเดินทางง่ายๆ เลยต้องเป็นทำเลที่ติดเส้นรถไฟฟ้า แต่ข้อต่อไปคือ กำลังจ่ายค่าเช่าที่สองพี่น้องมีงบในใจแล้ว เลยทำให้สโขปได้ง่ายลงว่าต้องการที่ตั้งสำหรับเปิดร้านไอศกรีมแบบไหน

“เราใช้สัญชาตญาณตลอดเวลาจะทำอะไร” น้ำทิพย์พูดพร้อมอมยิ้ม

พอทั้งน้ำอบและน้ำทิพย์ได้มีโอกาสเจ้าของพื้นที่ ก็โชคดีที่เจ้าของพื้นที่ยินดีให้เช่าโดยไม่มีคำถามมากนัก แต่ก็ได้คำเตือนแค่ว่า จะอยู่ได้มั้ย

แต่มันก็พิสูจน์แล้ว เมื่อยอดขายในวันที่เปิดหน้าร้านเยอะขึ้น รวมถึงการที่กินตามเริ่มถูกหยิบไปทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ พร้อมกับคำพะหัวจาก TikToker หลายๆ คนว่าร้านไอศกรีมดังจากเชียงใหม่ ก็เลยส่งผลให้หน้าร้าน Pop-Up Store ที่เชียงใหม่ของกินตาม ซึ่งเปิดอยู่หน้าร้าน Rubber Killer Flagship Store ได้รับการตอบรับที่ดีตามไปด้วย

โลกธุรกิจไม่ได้หวานเหมือนไอศกรีมหรอก

ก่อนหน้านี้ทั้งน้ำอบและน้ำทิพย์บอกว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกิจไอศกรีมที่มีหน้าร้านในสองจังหวัดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงคือ ความไม่รู้

ตอนนั้นคือคำตอบในการเปิดร้านช่วงโรคระบาดกำลังเล่นงาน แต่พอมาเป็นวันนี้ที่กินตามมีหน้าร้านทั้งสองจังหวัด คำตอบที่ทั้งสองประสานเสียงตอบพร้อมกันก็ยังเหมือนเดิมคือ ความไม่รู้ 

แต่เพิ่มเติมคือ การทำงานร่วมกับสมาชิกในครอบครัว

น้ำอบและน้ำทิพย์บอกว่า คุณแม่ของเธอทั้งสองคือฟันเฟืองและกำลังใจที่สำคัญมาก ซึ่งทำให้กินตามมาถึงวันนี้ (เราไปหน้าร้านที่เชียงใหม่เมื่อไม่นานมานี้แล้วเจอคุณแม่ของทั้งสอง คุณแม่น่ารักกับลูกค้าทุกคนมากจริงๆ) 

“เหมือนทุกวันมันจะมีข้อท้าทายให้เราเป็นภารกิจประจำวัน อย่างวันนี้เราเจอปัญหา เราได้เรียนรู้แล้วว่าต้องแก้แบบนี้ แล้วก็กลับมาคุยกัน มันคือการเรียนรู้ไประหว่างทาง” น้ำทิพย์ตอบเรา

“สิ่งที่เคยผ่านมาคิดว่าแก้ไขมันได้ดีขึ้นก็คือ การทำงานในครอบครัว ถามว่ายากไหมก็ยากเพราะว่า เหมือนเราต้องมองแว่นว่าคุณแม่คือผู้ร่วมงานหนึ่งคน ต้องถอดความเป็นแม่ก่อน แม่ทำงานได้ตรงตามเป้าไหม มันแก้ไขกันมาเยอะ มันผ่านน้ำตา ผ่านการคุยด้วยความเข้าใจ คือจริงๆ ตอนนี้มันยังคลุมเครือแต่ว่าเราก็ปรับกันมาเยอะมาก เขาก็ปรับ เราก็ปรับ ถ้าถามก็เป็นเรื่องแม่ที่เป็นหนึ่งในจุดที่เราแก้ไข” น้ำอบเสริม

นอกจากเรื่องทั้งหมดแล้ว การบริหารจัดการร้านก็เป็นสิ่งที่น้ำอบและน้ำทิพย์เรียนรู้ด้วยตัวเองด้วยเช่นกัน ทั้งเรื่องบริหารร้านค้า และบริหารเรื่องคน

“ทุกอย่างมันเกิดขึ้นด้วยความสนุก เจอปัญหาหรอ ก็แก้สิ เหมือนพอมีความสนุกนำ มันก็เลยไม่ได้ท้อว่าแบบมีแต่ปัญหา ทุกคนตื่นมาทุกวัน มีปัญหาทุกวัน แค่เราแก้ด้วยความสนุกมันก็เลยแบบ ไปต่อๆ” น้ำทิพย์อธิบาย

ปิดท้ายด้วยไอศกรีมรสเสาวรส

“ไอศกรีมมีเสน่ห์สำหรับคุณยังไง” เราถาม

“ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นสิ่งที่มันเป็นของหวานที่ต้องกินในเวลาจำกัด ถ้าเราตั้งทิ้งไว้มันก็ละลายแล้ว ก็ไม่ได้สนใจมันขนาดนั้น แต่พอไปในเต็มแล้วเรารู้สึกว่าเราต้องจัดการกับมันเลย เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับเรา” น้ำทิพย์ตอบเรา

“เราไม่ใช่คนกินไอศกรีมอยู่แล้ว แต่จะมาเปิดร้านไอศกรีม เราแค่รู้สึกว่ามันมีโจทย์อะไรหรือว่าน้ำทิพย์โยนอะไรมาให้ ตั้งต้นเป็นน้ำทิพย์นำ แล้วเราค่อยมาดูว่าเราช่วยอะไรได้บ้าง เราอาจจะไม่ได้มองว่าเราแบบฉันชอบกินไอศกรีม แล้วมองไอศกรีมมันเป็นยังไง” น้ำอบตอบ

สองพี่น้องไม่เคยคิดเลยว่า จากกิจกรรมแก้เบื่อในครัวเรือน จะกลายเป็นธุรกิจจริงจังที่สามารถยืนระยะการเปิดกิจการได้ เป็นที่นิยม และได้รัการยอมรับทั้งในด้านความอร่อยและความคิดสร้างสรรค์

“เราไม่ได้มีภาพนั้นอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนี้มันก็เลยเหมือนเป็นว่า ไม่รู้แหละว่าข้างหน้าเป็นยังไง ต่อจุดไปเรื่อยๆ แล้วตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีเป็นภาพชัดด้วยนะว่า ฉันจะเป็นแบบนี้ แค่มองสั้นๆ เลยว่าอยากจะได้โจทย์แบบนี้ รอวันที่จะมีคนเจอผลงานเราแล้วอยากจะให้เราได้มาสร้างสรรค์ตามโจทย์เขา มันอาจจะสนุก” น้ำอบตอบ

แพลนระยะสั้น กลาง ยาว ตามขนบธุรกิจของสองพี่สองก็จะมีแค่ว่า ระยะนี้อยากให้ระบบการบริหารจัดการร้านแข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อจะได้สร้างประสบการณ์-การกินไอศกรีมแซนด์วิชที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด เกิดปัญหาน้อยที่สุด และพนักงานทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนแผนในอนาคตคือ การทำให้กินตามเป็น Creative Catering หรือสร้างสรรค์ไอศกรีมและอาหารชนิดอื่นๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ออกมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งนั่นก็เป็นแสพชั่นในการทำแบรนด์กินตามของน้ำอบ

“เราอยากได้โจทย์ที่สนุกท้าทาย ที่หลากหลายมากขึ้น สมมุติว่าลูกค้าจะทำเทศกาลดนตรี ลูกค้าอยากทำไอศกรีมแซนด์วิชขายแจกในงาน กินตามมาทำให้หน่อย 1,000 ชิ้น ขายเฉพาะอีเวนต์นั้น หรือคอนเสิร์ตของศิลปิน ก็ให้เราช่วยตีความเพลงออกมาเป็นไอศกรีมแซนวิช แล้วมาแจกแค่วันคอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งฝั่งศิลปินที่ทำงานศิลปะ จะเปิดนิทรรศการเหรอ กินตามมาทำให้หน่อย ตีโจทย์จากผลงานของเรา รู้สึกว่าอันนั้นก็คือแพสชั่นในการทำงานของเราทุกวันนี้ ยิ่งหลากหลายแล้ว เขาอยู่จากอีกโลกหนึ่งแต่เขาคิดถึงไอศกรีมของเรา”

ส่วนน้ำทิพย์เอง การทำร้านไอศกรีมคือ แพสชั่นของเธอ เพราะเธอหลงใหลในการอ่านสูตรอาหารภาษาอังกฤษบนโลกออนไลน์ แล้วก็ชอบทำขนม จนมันค่อยๆ เติมเต็มจนเธอเจอเส้นทางใหม่นั่นคือ การเป็นนักศึกษาภาพยนตร์

แต่สุดท้ายเธอก็ทำตามความฝันในวัยเด็กได้สำเร็จ

“พอมานั่งสัมภาษณ์มันก็มีการที่เราต้องกลับไปย้อนคิดว่า เราชอบตั้งแต่ตอนไหนนะ ไม่ได้ทันสังเกตว่าตอนไหนเพราะว่าอยู่กับมันมาตลอด เป็นมาตั้งแต่ประถมที่ชอบนั่งอ่านบล็อกของฝรั่งที่แชร์สูตรอาหาร เราก็ได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย แล้วเราก็ติดชอบเสพชอบทำ ทำกินกันเองที่บ้าน แล้วพอมาเรียนฟิล์มมันก็ได้เรียนรู้เรื่องการที่จะสร้างอะไรสักอย่างมันต้องมีสตอรี่ มีคอนเซปต์สุดท้ายแล้วเรารู้สึกว่าการที่สร้างอะไรสักอย่างมันคือการทำหนัง มันอาจจะเป็นเรื่องที่ใช้เงินเยอะ คนเยอะ การที่มันวุ่นวายเกินกว่าที่จะทำทุกอย่างเสร็จด้วยตัวเองได้ เราเลยรู้สึกว่ามันก็เอาสองอย่างนี้มาผสมกัน มันเป็นสิ่งที่เราชอบทั้งคู่ ก็คือชอบทั้งทำให้มันทำเองได้ขึ้นมา กับการที่ได้คิดว่ามันจะออกมาเป็นยังไง เลยรู้สึกว่าทุกๆวันที่ได้ทำมันก็ได้ทำทั้ง ได้คิดด้วย ได้ทำจริงด้วย”

เราชวนทั้งสองสรุปบทเรียนสุดท้ายก่อนที่เราจะได้กินไอศกรีมแซนด์วิชก้อนตรงหน้าเรา ทั้งคู่ประสานเสียงตอบตรงกันว่า ไม่มีทางทำสิ่งๆ นี้ได้ 

ถ้าไม่มีทีมที่ดี

“ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่ามันเริ่มมาจากการที่เราชอบทำ การที่เราทำขึ้นมาได้เอง แต่ว่าพอถึงจุดนึงแล้วเราอยากขยายขึ้น เราต้องการคนอื่นมาช่วย มันก็ต้องใจเขาใจเราว่า เขามาช่วยเราในจุดนี้โดยที่เราก็ต้องเข้าใจว่า ตัวเขาเองเหมือนต้องเสียอะไรสักอย่างเพื่อมาช่วยเรา แล้วเราก็ต้องเสียอะไรสักอย่างเพื่อที่จะได้เขามาช่วย เมื่อก่อนอาจจะรู้สึกว่าทุกอย่างต้องเป๊ะในตัวเอง แต่พอมีคนอื่นมาช่วยเราก็ต้องเหมือนใจดีกับเขา เข้าใจว่าการที่เขามาช่วย มันไม่มีทาง 100 เปอร์เซนต์ แต่ว่ามันก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้เอง ซึ่งมันก็คือการขยายที่ เราจะไปไหนต่อจากนี้ไม่ได้ถ้าไม่มีคนอื่นมาช่วยกันทำ” น้ำทิพย์ส่งท้าย

“ถ้าไม่มีทีม” น้ำอบสรุป

สัมภาษณ์เดือนกันยายน 2566

About Storytellers

ทำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นงานหลัก มีครีเอทีฟเป็นงานรอง รับจ้างเขียนหนังสือเป็นงานเสริม เลี้ยงหมาชื่อปิ๊ดปี๋เป็นงานอดิเรก ทำแมกกาซีนออนไลน์เป็นงานเลี้ยงแพสชั่น และกำลังจะได้กลับไปสอนหนังสืออย่างที่เคยหวังไว้

ช่างภาพอิสระ ... อิสระจากความมั่นคงทางรายได้