จิรันธนิน กิติกา: ขับเคลื่อนเมืองด้วยแพสชั่นแบบจัดจ้าน บันดาลใจให้คนรุ่นใหม่รันเมืองไปด้วยกัน

ผศ.ดร.จิรันธนิน กิติกา น่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ซิ่งที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เราเคยรู้จัก

อาจารย์ภูคนนี้คือ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด ซึ่งเอกลักษณ์เด่นๆ อย่างที่เราเห็นเขาในพื้นที่สื่อคือ การแต่งกายที่จัดจ้าน เสือผ้าสีแสบ ย้อมสีผม การวางตัวที่เป็นมิตรกับนักศึกษา และวิธีการออกแบบการสอนที่เข้าถึงง่ายทั้งในหมู่เด็กสถาปัตย์และคนนอก จนมีเพจชื่อ Talk321 ออกมา 

ซึ่งอาจารย์ภูต้องรับมือกับการต่อต้านจากคนในระบบตาม “ค่านิยม” อยู่ก็ไม่ได้น้อย

นอกจากเรื่องการวางตัวและการสอน อีกสิ่งที่อาจารย์จริงจังกับมันมากๆ จนเป็นวาระที่เราเลือกมาคุยกับอาจารย์ในวันนี้คือ การทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนและเมือง 

โอเค ด้วยการเป็นนักวิจัยผ่านหมวกอาจารย์ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานลงพื้นที่เพื่อนำไปจัดการต่อเป็นงานวิจัยแบบไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในงานที่ทำให้เห็นภาพใหญ่ถึงการทำงานลงชุมชนของเขาได้ดีที่สุดคือ เทศกาลคนข้าวยาคู้ช้างม่อย ที่หยิบเอาประเพณีท้องถิ่นและเสน่ห์ของพื้นที่ชุมชนช้างม่อยมาหลอมรวมเป็นเฟสติวัลเล็กๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านและผู้คนทั่วไปเป็นอย่างมาก

ในฐานะที่รู้จักอาจารย์ภูมาประมาณหนึ่ง แต่ไม่มีโอกาสได้พูดคุยกันเป็นจริงเป็นจัง เราจึงใช้โอกาสที่กำลังจะทำแมกกาซีนออนไลน์ว่าด้วยแพสชั่นของคนนี่แหละ เป็นสะพานในการเชื่อมบทสนทนาระหว่างอาจารย์มหาลัย การลงชุมชน และแพสชั่นในการพัฒนาเมือง

ใครบอกว่าสามอย่างนี้เชื่อมโยงกันไม่ได้ อาจารย์ภูนี่แหละเชื่อมให้เราดูแล้ว

และขอเชิญทุกคนเชื่อมโยงได้เลย หากมีโอกาสที่เหมาะสม

ในความเป็นคนเชียงใหม่ อาจารย์เห็นเมืองเชียงใหม่ในฝันเป็นเมืองแบบไหน

สำหรับผม ผมว่าเมืองในฝันของเมืองเชียงใหม่คือ เมืองเชียงใหม่ที่ให้อิสรภาพของเราในการที่จะได้ใช้ชีวิตช้าๆ กินกาแฟหนึ่งแก้วทั้งวัน ดึกดื่นไปกินลาบ ไปกินเบียร์ เชียงใหม่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากผู้คนพลัดถิ่นมากมาย ซึ่งเมืองในฝันของผมเป็นเมืองที่ทุกคนอยู่กันด้วยความหลากหลาย แล้วก็อยู่กันแบบช้าๆ อยู่กันแบบเนิบ ๆ แต่แบ่งปันกัน ซึ่งนี่เป็นเมืองในฝันของเชียงใหม่ที่ผมรู้สึกรักเชียงใหม่แล้วก็อยากอยู่เชียงใหม่ต่อไป

แล้วในความเป็นจริงล่ะคะ

ความเป็นจริงอยู่ยาก เพราะว่าความอยู่ยากคือคนที่อยู่แบบนั้นได้ต้องมีต้นทุนเยอะมาก อย่างเราเป็นนักเรียน หรือเป็นเด็ก เราอยู่ในใต้ร่มเงาของบ้าน คนที่บ้านให้เงินเรากิน มีบ้านให้เราอยู่ แต่พอเรามาเป็นผู้ใหญ่ การมีเงินพอที่จะทำให้เราใช้ชีวิตช้าๆ แบบนั้นมันมีต้นทุนสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นอยู่ตรงไหนของเมือง อยากจะชิลเบอร์ไหน อยากจะรู้จักศิลปะแบบไหน ทุกอย่างมันต้องอาศัยต้นทุนหลายๆ ต้นทุนเช่น ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางเมืองต่างๆ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ เพราะพอทุนมันมาจัดการเสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ มันทำให้เสน่ห์บางอย่าง เช่น เชียงใหม่เคยมีเสน่ห์เรื่องเทศกาล ก็มาจัดตั้งอีเวนท์แทนการทำเทศกาล หรือแม้กระทั่งศิลปะเชียงใหม่เป็นเมืองศิลปะ แต่สุดท้ายทุนใหญ่เป็นผู้ที่จัดแสดงศิลปะให้คนในเมือง แต่คนในเมืองไม่ได้มีทักษะทางศิลปะมากขึ้น ผมเลยรู้สึกว่าเป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มมองเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งนะว่า  เราเคยเป็นเด็กที่อยู่ในเมือง เสพความสัมพันธ์ในเมืองโดยที่ไม่รู้ว่าความจริงมันมีเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ไม่เท่ากันอยู่บางอย่าง

กับคนเชียงใหม่เอง อาจารย์คิดว่าเขากำลังต่อรองกับอะไรเพื่อให้ได้มาซึ่งเมืองในฝัน

ผมว่าเมืองในฝันมันต้องให้เมืองนั้นถูกออกแบบจากคนอยู่ ดังนั้นคนอยู่มีสรรพกำลังอะไรในการที่จะเลือกเมืองที่เค้าอยากอยู่ได้บ้าง ผมว่าสิ่งสำคัญเลยก็คือ คนอยู่เชียงใหม่มันต้องสามารถที่จะส่งเสียงและมีกลไกในการรับฟัง และมีผู้ที่มารับภารกิจจากคนเมืองมาทำ ซึ่งสิ่งที่ผมพูดในเชิงคอนเซปต์แบบนี้ มันก็มีองค์กรรัฐที่ต้องทำ อย่างเช่น เทศบาล อบจ. องค์กรต่าง ๆ แต่มันดันติดกับดักที่ว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐแบบบนลงล่าง ดังนั้นภารกิจที่เขาจะต้องทำแบบล่างขึ้นบนมันก็ไม่เคยสำเร็จ เพราะคนในรัฐ คนในเมือง ไม่ได้ให้เงินเขา แต่เขาง้อเงินรัฐ เขาทำงานตามโจทย์แบบที่ต้องคิดว่า Bottom-Up (กลไกแบบล่างขึ้นบน) แต่เมื่อกลไกมันเป็น Top-Down เขาก็ต้องยอมแพ้ 

กลับกลายเป็นกลไกอิสระบางอย่างเช่น ภาคประชาสังคม คนรุ่นใหม่ตัวเล็กๆ มันเลยทำงานเข้าถึงโจทย์ชัดกว่า แต่ความเศร้าคือ เขาไม่มีทุนในการที่จะทำให้มันเป็นจริง เช่น ย่านศิลปะดนตรีเมืองเชียงใหม่ กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มบาริสต้า กลุ่มคราฟท์เบียร์ มันคือกลุ่มพันธะของเอกชนและคนรุ่นใหม่ แต่ว่ากลับไม่ได้ถูกสนับสนุนเลย

อย่างอาจารย์เองก็อยากเห็นเชียงใหม่ดีขึ้น อาจารย์ “เริ่ม” อย่างไร

ผมคิดว่าผมกล้ามากขึ้นนะ ผมจบที่ญี่ปุ่นมาเนอะ ญี่ปุ่นมันทำให้เห็นว่าชุมชน เมือง มันคือเรื่องเดียวกัน มันเกี่ยวข้องกัน พอมันเกี่ยวข้องกันคือ ตัวเทศกาลเมืองมันปราศจากชุมชนไม่ได้ ปราศจากผู้คนไม่ได้ ความหมายของเมืองมันไม่ได้มาจากสิ่งที่รัฐให้ แต่มันมาจากการใช้ชีวิตของคนในนั้น ดังนั้นพอผมเห็นความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่น ผมก็กลับมามองประเทศตัวเอง ผมมองว่ามันมีทางออกมากมายในการพัฒนาเมือง ซึ่งการพัฒนาเมืองที่ผมชอบก็คือการพัฒนาเมืองจากคนที่อยู่ คนที่อยู่ต้องเป็นคนกำหนดว่าเมืองจะเป็นอะไร แล้วสิ่งที่เราจะประสบหรือมีประสบการณ์ร่วมกับเมือง มันคือวิถีชีวิต การใช้ชีวิต มันไม่ใช่การบอกว่าการไปวัดสำคัญ คือวิถีชีวิตคนเมือง มันไม่ใช่ คือการที่เรากินแบบนี้ อยู่แบบนี้ รู้จักป้าคนนี้ นั่นแหละคือประสบการ์ที่ทำให้เราอยากกลับมา 

ดังนั้นทุกครั้งเวลาที่เราเรียน ไม่ว่าจะที่เชียงใหม่หรือว่าเราเรียนที่ไหนก็ตาม เรายังอยากกลับมาเชียงใหม่ เราไม่ได้อยากกลับมาเพราะเราอยากถ่ายรูปวัด เรากลับมาเพราะเรารู้จักคนๆ นี้ เรามีเครือข่ายแบบนี้ เรามีพื้นที่ทางสังคมแบบนี้ เราอยากใช้เมืองแบบนี้ นั่นคือเสน่ห์ นั่นคือความจริงของเชียงใหม่ที่มี ผมก็เลยลงไปในเมืองและชุมชนเพื่อตามหาสิ่งเหล่านี้และเอามาเป็นประเด็นในวิชาสถาปัตยกรรม มันเป็นความรู้ระหว่างคนและพื้นที่ ดังนั้น สถาปัตยกรรมมันออกแบบโต๊ะก็ได้ ออกแบบบ้านก็ได้ ออกแบบพื้นที่สาธารณะ ออกแบบผังเมืองก็ได้ แต่มันคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่

ดังนั้น การมีบริบทที่เรียกว่าเชียงใหม่ และชุมชมเมืองเชียงใหม่เป็นตัวที่ทำให้เราสร้างประเด็นเมืองได้ มันจะทำให้เราตีโจทย์สถาปัตยกรรมได้มากมาย มันไม่ใช่การเรียนเพื่อไปเป็นสถาปนิกที่รับใช้ทุน แต่เราสามารถเรียนแล้วกลับไปบ้านเกิดเราเพื่อออกแบบความน่าจะเป็นของชุมชนหรือบ้านที่เราอยู่ให้มันดีขึ้นได้

โปรเจคต์แรกที่อาจารย์ลงไปทำงานกับชุมชนและเมืองคืออะไร

เป็นโปรเจคต์ที่ไปทำกับถนนพระปกเกล้าแล้วก็ถนนมูลเมือง เราอยากศึกษาเชิงสถาปัตย์ก่อนว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ดี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เหมาะแก่การเดินได้ เหมาะแก่การเชื่อมวัด บ้าน โรงเรียน มีท่ารถ เพราะฉะนั้นพื้นที่บริเวณฝั่งหัวเมืองฝั่งช้างเผือกเป็นพื้นที่ที่ผมสนใจตั้งแต่แรก พอลงไปทำข้อมูลปุ๊บ  เราก็เจอประเด็นว่ามันไม่ได้ไม่ออกแบบนะ มันมีการออกแบบอยู่ คนที่รู้และใช้พื้นที่ตรงนั้นก็คือช่างเย็บผ้า ท่ารถแดง กลุ่มคนที่ทำงานกับฝรั่งแบ็คแพ็คเกอร์ เข้ารู้ว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่มันเดินได้แล้วก็ดี เพราะฉะนั้นเขาก็เลยเอาตัวเองไปฝัง ดังนั้นความสัมพันธ์ของเมืองมันถูกจัดวางไปแล้ว แต่คนที่ไม่ทำอะไรคือรัฐ

ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มศึกษาแล้วก็เป็นชุมชนแรกที่ลงไป ซึ่งเริ่มแรกเลยก็ได้คุยกับชุมชนล่ามช้าง-เชียงมั่น เราก็เลยเจอว่า 2 ชุมชนที่อยู่ใกล้กันกลไกมันต่างกันมาก แล้วมันก็เห็นความซับซ้อนของระบบบนลงล่าง กับล่างขึ้นบนได้ชัดเจนมากๆ อย่างชุมชนเชียงมั่นเขาก็จะมีกลไกวัดที่แข็งแกร่ง แต่ว่าภาคชุมชนเขาจะไม่ค่อยแข็งแกร่งเท่าเพราะว่าตัวคนย้ายออกไปเยอะ ดังนั้นคนที่จะกำหนดความเป็นไปก็คือกลุ่มศรัทธาวัด แต่ชุมชนล่ามช้างจะกลายเป็นว่า ผู้นำชุมชนคือวัด และมันทำให้คนในชุมชนสามารถคุยกับวัดได้ แล้วก็ผู้นำชุมชนในเชิงของเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ต่อรองกับเจ้าอาวาสได้ ดังนั้นมันก็เลยทำให้เป็นชุมชนที่ทำงานแบบร่วมมือ ซึ่งแค่ 2 ชุมชนที่มันอยู่ใกล้กันมันก็ทำงานต่างกันแล้ว ก็เลยทำให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองมันไม่ได้มีโมเดลไหนที่ตอบได้ทุกๆ ชุมชน แต่ว่ามันต้องปรึกษาชุมชนต่อชุมชนไป

แล้วมันท้าทายยังไงบ้างคะ เพราะแค่ขยับพื้นที่ไปนิดเดียว บริบทก็เปลี่ยนแล้ว

มันทำมันทำให้เห็นว่ากลไกและเครือข่ายมันไม่เหมือนกัน มันคนละรูปแบบกัน และมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นะ ถ้าเปลี่ยนผู้นำชุมชน เปลี่ยนประเด็น มันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่รัฐ แม้แต่ดีไซเนอร์หรือสถาปนิกไม่เคยรู้เลยคือ มันมีความสัมพันธ์ที่ออกแบบและนำพาชุมชนไปอยู่ ถ้าเกิดเราเข้าใจว่าทำไมชุมชนนี้มีรถราง ทำไมชุมชนนี้ไม่สามารถที่จะทำถนนเดินได้ เราก็ไม่สามารถที่จะทำตัวเป็นนักคิดอย่างเดียว ผมว่ามันเป็นความรู้หมดเลย ถ้าเรามองมันเป็นความรู้ทางสถาปัตย์นะ

มันอาจมีอคติจากชาวบ้านเมื่อต้อทำงานร่วมกันบ้าง อาจารย์เคยเจอสิ่งเหล่านั้นมั้ยคะ

ผมไม่เคยเจอ เพราะผมพยายามมองว่าอาจารย์ไม่ใช่คำนำหน้า แต่เป็นอาชีพ เพราะฉะนั้นภูวาคนนี้มันไม่ใช่อาจารย์ภูวา ถ้าเราทำให้อาชีพอาจารย์มันสูงส่ง นักวิชาการมันมากกว่าคนทำงานบนท้องถนน สังคมมันจะไม่กลม

ดังนั้นการเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน แล้วไปลงพื้นที่ ให้เกียรติคนในพื้นที่ แล้วก็ทำงานร่วมกัน นั่นคือคีย์หลัก เวลาลงพื้นที่ ผมก็จะลงพื้นที่ไปแบบมนุษย์คนนึง ไม่ได้บอกว่าเป็นอาจารย์ หรือว่าทำวิจัย ทำโปรเจคต์อยู่นะครับ ผมก็เข้าไปคุย ข้อดีของผมคือ ผมเป็นคนพื้นถิ่นผมก็พูดเมืองได้ แล้วก็ลงพื้นที่บ่อยๆ ลงแบบไม่ได้ไปเก็บข้อมูลนะ แต่ลงไปใช้เมือง เช่น ไปกินกาแฟร้านนี้ประจำ ไปคุยกับป้า ไปกินอาหารย่านนั้น อย่างช้างม่อยเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ผมขยับมาจากที่เริ่มทำในคูเมือง ผมไปใช้ช้างม่อยจนรู้จักหมด จนหน้าช้ำก็แล้วกัน ตอนแรกป้าๆ ก็จะไม่ค่อยเปิดใจกับผมเพราะว่าดูเป็นชนชั้นกลาง ดูแบบมากินมาเที่ยว แต่พอผมเริ่มทำได้ปี 2 ปี หน้าเริ่มช้ำ ทุกคนก็จะเริ่มแบบ ‘ไอ้ตี๋คนนี้ ไอ้คนนั้นไงที่มันเดินมา’ แล้วพอเขารู้อยู่แล้วว่าเราเป็นอาจารย์ เขาจะยิ่งให้ใจเราเพราะว่าอาจารย์คนนี้มันไม่ได้ถือตัว แล้วเขาก็เปิดใจให้เราตั้งแต่วันที่เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นอาจารย์หรือทำวิจัยแล้ว 

ดังนั้นผมรู้สึกว่าการวางตัวมันอยู่ที่เรา เพราะว่าบางทีถ้าเราบอกว่า แค่คำศัพท์ว่าชาวบ้าน มันก็รุนแรงแล้วนะ เขาก็คือคนในพื้นที่ เราเป็นคนทำงานกับพื้นที่ ดังนั้นแล้วเขารู้ดีกว่าเราอีก ผมเลยคิดว่ากระบวนการอะไรต่างๆ  มันต้องเริ่มต้นจากการร่วมคิด ถ้าสมมติมันเกิดแค่การร่วมทำ มันก็จะกลายเป็นว่าทำไมฉันต้องทำเมืองเดินได้ ฉันไม่ได้อยากทำ ฉันไม่เห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับฉันยังไง แต่ถ้าเขาอยู่ร่วมกันว่าเดินได้ ร้านค้าเขาจะขายได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งเดินได้มันทำให้ที่จอดรถของเขามันไม่มีปัญหา ถ้าเขาเข้าใจตั้งแต่เริ่มคิด เริ่มทำเขาก็จะที่ชัดเจนขึ้น

มีวิธีการไหนอีกมั้ยคะที่ทำให้เราสามารถทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในตัวอาจารย์ได้

ผมว่ามันต้องให้และรับ อย่างตอนผมทำงานกับหัวหน้าชุมชนช้างม่อย เขาบอกถึงปัญหาของชุมชน แล้วก็บอกว่าอยากให้เราทำให้ชุมชนก่อน ดังนั้นมันก็คือการให้ก่อน ก่อนรับ ที่นี่มีเทศกาลชื่อคนข้าวยาคู้ เป็นการทำข้าวมธุปายาสทุกๆ ยี่เป็ง (เทศกาลลอยกระทง) ไม่มีคนเลย อยากให้ผมมาช่วย ผมก็โอเค ไปช่วย เหมือนกับเราไปฮอม (รวม, รวบรวม-ภาษาถิ่นเหนือ) ก่อน พอเราไปให้เขาก่อน มันมีสภาวะที่เราอยากตอบแทนกัน ซึ่งตรงนี้มันน่ารักตรงที่ว่า เราไปช่วยชุมชนปุ๊บ พอมีปัญหาอะไร ชุมชนก็จะ ‘มีอะไรให้ป้าช่วยบ้าง’  มันแบ่งกันรับแบ่งกันเติมไปเรื่อย ๆ มันก็เลยทำให้การทำงานมันง่ายขึ้น

แล้วอะไรคือการที่อาจารย์ดึงนักศึกษาลงมาทำงานชุมชน

ผมว่าผมไม่ได้ทำเรื่องใหม่เลยนะ แต่ว่ามันกลายเป็นเรื่องใหม่ แล้วที่ตลกมากในเมื่อมหาวิทยาลัยเราตั้งใจจะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน แต่คำถามคือคณะเรารู้จักวัดฝายหินดีแค่ไหน รู้จักหลังมอดียังไง หน้ามอเคยทำวิจัยร่วมไหม ทำไมคณะอื่นมหาวิทยาลัยของเราถึงมีรั้วกำแพงหนา เป็นรั้วกำแพงที่ไม่ใช่แค่รั้วกำแพงทางกายภาพที่ห้ามคนเข้าคนออก แต่รวมไปถึงกำแพงทางวิชาการ มันชัดเจนเลยว่ามหาวิทยาลัยมัน Standalone คือ อยู่เฉยๆ ของมันแล้วไม่เกี่ยวกับชุมชน ดังนั้นการทำงานกับชุมชน ผมว่ามันเป็นการทำงานที่เป็นคติพจน์ ของมหาวิทยาลัยเราด้วยซ้ำ การเอานักศึกษาไปลงชุมชนมันเป็น Situation Based ที่มีบริบทชัดเจน ซึ่งถ้าเขาถอดกลไกนี้ได้ เขาจะสามารถทำวิธีการนี้กับชุมชนหรือที่อื่นๆที่เขาทำได้ 

ผมรู้สึกว่านี่มันเป็นต้นทุนของมหาวิทยาลัยภูมิภาคคือ เรามีสภาพแวดล้อมและบริบทที่แตกต่างจากเมืองใหญ่มากมาย และมันเป็นต้นทุนที่น่าเรียนรู้มาก และสิ่งที่ได้มันคือการที่ขยับเมืองด้วย ดังนั้นสิ่งที่นักศึกษาจะได้ก่อนก็คือ ได้ทำงานกับความจริง ครั้งแรกที่ผมไปลงช้างม่อยแล้วให้นักศึกษาไปพูดข้อมูลที่เขาเก็บมาได้ คนในชุมชนต่อว่าเยอะมาก แบบว่ารู้ได้ยังไงว่าเป็นอย่างนั้น ทำไมคิดว่าเป็นอย่างนั้น มันไม่จริง ผมรู้สึกว่าเจ๋งว่ะ คือจากแค่ห้องเรียนปิดๆ ของเรา การจำลองหาข้อมูลแล้วนำเสนอด้วยสไลด์จนกระทั่งให้คนในชุมชนฟัง แล้วคนในชุมชนบอกว่า ‘รู้ได้ยังไงว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลจริง’ ผมบอกนักศึกษาเลยว่า ผมไม่ได้เรียกทุกคนออกไปเพื่อให้ทุกคนไปโดนตบหน้ากลางสี่แยก แต่นี่คือความจริงว่า สถาปนิกเราคิดไปเองว่าเมืองแบบนี้ควรจะเป็น หรือข้อมูลที่มันควรจะเป็น พอเจอพี่ๆ คนในชุมชนเป็นยังไง เขาไม่ได้เห็นด้วยใช่ไหม นี่แหละคือข้อมูลใหม่ที่เราจะต้องมาคิดร่วม 

หรือแม้กระทั่งทำโปรเจคแล้วก็กลับไปหาชุมชนให้คนมาดูว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์ก มันเป็นเหมือน Stepping Stone เป็นก้อนหินเพื่อให้คนข้างนอกหยิบยืมเราไปใช้ต่อ นี่แหละมันคือแวดวงวิชาการที่มันควรจะเป็น อย่างน้อยถ้าเด็กคณะมนุษย์ ถ้าเด็กรัฐศาสตร์ มาฟังงานของผมหรือมาดูงานของผม แล้วมันมีประเด็นนี้ แล้วหยิบไปใช้ต่อ นี่มันคือมหาวิทยาลัยที่มันควรจะเป็น ส่วนสิ่งที่มีชุมชนเขาจะได้ก็คือ เขาจะรู้สึกว่ามันมีมหาวิทยาลัยที่สนใจเขา ความรู้เขาสามารถถูกแปลงไปเป็นความรู้ทางวิชาการ ปั้นเป็นก้อนวรรณกรรม หรืออย่างน้อยก็ถูกนำไปใช้จริงได้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นการต่อยอด แล้วมันก็เป็นการสร้างหมุดหมายไปเรื่อยๆ นะ ผมว่ามันดีจะตายถ้าทำกับชุมชน

นักศึกษาฟีดแบคกับอาจารย์กลับมาว่ายังไงบ้างคะ

ตอนแรกเขารู้สึกเสียเซลฟ์ เพราะว่ามหาวิทยาลัยเรามันสอนให้เราถูกตรวจงาน ถูกให้คะแนนจากอาจารย์มาโดยตลอด ดังนั้นนักศึกษาจึงมีหน้าที่แค่เชื่อฟังอาจารย์ ในแวดวงการเรียนออกแบบซึ่งมันเศร้านะ ผมจะเห็นได้ชัดเลยว่านักศึกษาแต่ละคนมีวิธีคิดและมีไอเดียมากมาย แต่สุดท้ายจำเป็นและฝืนทำตามคำแนะนำ หรือการวิพากษ์ของอาจารย์ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนให้เกรด จนเขาลืมไปว่าเขามาเรียนเพื่อเอาเกรดหรือเอาความรู้กันแน่ ซึ่งผมว่าอันนี้แหละคือประเด็นที่ นักศึกษาหลายคนจะบอกว่าเสียเซลฟ์ รู้สึกไม่มั่นใจ แต่ผมบอกว่านั่นแหละคือความรู้ใหม่ นั่นแหละคือสิ่งที่ชัดเจนเลยว่าคุณไม่ได้คิดไปเอง คุณสามารถเอาสิ่งที่เกิดขึ้นจากการคุยกันวันนั้นมาเป็นข้อมูลได้ว่าเขาพูดจริง นี่แหละคือสิ่งที่มันใหม่ ที่คนอื่นไม่มี สิ่งสำคัญก็คือการที่มาเรียนเชียงใหม่ แล้วก็มี Portfolio ที่ทำงานกับชุมชนจากเชียงใหม่ ผมรู้สึกว่ามันเป็น Portfolio ที่ดี ดีเหลือเกิน เพราะว่าถ้าเราต้องเปิด Portfolio ของเด็กสถาปัตย์ 5 ปีเรียนอะไรบ้าง แต่ไม่เคยมีงานไหนที่ทำกับเชียงใหม่เลย มันจะมาเรียนเชียงใหม่ทำไม มีแต่ตึกที่ขนาดใหญ่ขึ้น เช่นทำบ้าน พิพิธภัณฑ์ ที่จอดรถ ทำอาคารสูง ไม่มีอะไรที่มีเชียงใหม่เลย แล้วมันจะเป็นเด็กสถาปัตย์เชียงใหม่ที่มันดูมาเรียนเชียงใหม่เพื่อได้ความรู้แบบนี้ไปได้ยังไง 

ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนแล้วได้มาจากนักศึกษาก็คือ นักศึกษาเขารู้สึกว่า พอเขาทำงานกับชุมชน เขารู้สึกว่าเขาใกล้ชิดกับชุมชนนั้นมากขึ้น แล้วเขาก็รู้สึกว่าเขาเปิดแผนที่ให้กับตัวเอง มันอาจจะดูไม่ไกลนะ แต่นักศึกษาพูดเลยว่าด้วยชีวิตที่ทำงานสถาปัตย์ เขารู้จักพื้นที่พวกนี้น้อยมาก ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้เขา มันเหมือนเขามีเพื่อนบ้านใหม่ที่เกิดขึ้น แล้วเขาก็รู้สึกว่าเขารู้จักมันมากขึ้น

ผลลัพธ์จากการปะทะสังสรรค์อย่างหนึ่งคือ การนำประเพณีดั้งเดิมของชาวช้างม่อยมาต่อยอดเป็นอีเวนต์ใหญ่ มันมาถึงตรงนี้ได้ยังไงคะ

ถ้าเกิดเทศกาลที่จัดเลย ใช้คำว่าที่เป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือ ผมก็จะพูดถึงเรื่องของผังเมืองแล้วก็กลุ่มชุมชน ซึ่งคนข้าวยาคู้เป็นเทศกาลที่ชุมชนทำอยู่แล้ว แต่ผมแค่ไปฮอมปอย ซึ่งตรงนี้มันชัดเจนเลยว่า เราเอาแกนกลางเป็นผู้นำและเครือข่ายชุมชนบ้านชมพูเป็นหลัก แล้วเราก็ไปช่วยกัน ปีแรกที่ผมไปช่วยผมใช้เงินวิจัยในการที่จะดันให้งานนี้ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน เกิด Learning Route เกิดการคนข้าว เกิดการจัดการ ซึ่งก็จะเป็นเชิงของการใช้เทศกาล เล่าเรื่องชุมชน เทศกาลสร้างเครือข่าย สร้างการเรียนรู้ชุมชน ปีต่อมาเนี่ย หน่วยงานรัฐใหญ่เริ่มมองเห็นการจัดงานจากปีแรก กลายเป็นว่าได้ทุนจัดงานมา ก็เลยเอาผมเป็นเหมือนกับแกนกลางของการจัดการ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายส่วน เพราะฉะนั้นปีที่ 2 มันก็เลยยิ่งใหญ่ขึ้น มีจัดภูมิทัศน์ แสง มีการจ้างทำ Projection Mapping  มีการทำเทศกาลโดยการดึงคนรุ่นใหม่มา 

แต่ปัญหาของทุนก้อนนี้คือ เจ้าของเงินไม่สามารถอธิบายชุมชนได้ว่าเงินที่ให้มาถูกอย่างไร เพราะว่ามันมีเงื่อนไขของการทำบัญชี มันทำให้ผู้นำชุมชนรู้สึกว่าการได้เงินตรงนี้มา มันทำให้เขาถูกมองไม่ดี เพราะเงินที่ให้มันถูกประกาศในการประชุม-ชุมชน และทุกคนก็มองว่า ทำไมชุมชนช้างม่อยได้เงินเยอะจัง ทำแล้วได้อะไร ผู้นำชุมชนเลยไม่อยากขอเงินจากใครแล้ว ก็เลยคิดกันว่า เราจะไปต่อยังไงดี ปีนี้ผมก็เลยดันคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะดึงเว็บไซต์ tomorrowlab มาเป็นตัวตั้งตัวตี แล้วผมจะทำเป็น Crowdfunding ที่แท้จริงก็คือ จะทำสปอนเซอร์ จะจัดแคมเปญ แล้วก็อีกไม่นานจะปล่อยแล้วว่าจะหาสปอนเซอร์ยังไง ซึ่งปีนี้มันก็เป็นท้าทายเราว่าเทศกาลเมือง เทศกาลชุมชนมันจะถูกอุปถัมภ์โดยระบบ Crowdfunding จริงๆ จะทำยังไง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันต่อยอดไปเรื่อยๆ

แล้วก็ในประเด็นของการขยายตัวของเทศกาลในปีนี้ ผมกะจะเน้นไปที่ Art Residency ผสมกับงาน Traditional แล้วก็จะจัดให้มันยาวขึ้น โดยปกติคนข้าวยาคู้มันแค่คืน 14 ค่ำถึงคืน 15 ค่ำก็คือเทศกาลเช้ายันเช้า แต่ตอนนี้มันจะถูกขยายเป็นศุกร์เสาร์อาทิตย์ เพื่อขยายให้คนมันมาเที่ยวช้างม่อยมากขึ้น แล้วก็ขนานไปกับเทศกาลยี่เป็ง

พอปรับรูปแบบเป็นการทำ Crowdfunding เต็มตัว อาจารย์คิดว่าความเป็นไปได้หรือข้อท้าทายของมันคืออะไรบ้างคะ

ตอนนี้คือทำแบรนดิ้ง กับทำแพคเกจสปอนเซอร์แล้วครับ แล้วก็กำลังจะเข้าสู่กระบวนการขาย  ซึ่งสปอนเซอร์ที่เราเล็งไว้ เรามองแล้วว่าเราจะเน้นไปที่กลุ่มเศรษฐกิจละแวกบ้านคือ ผู้ประกอบการในย่านที่เรายังเอื้อมไม่ถึงหรือแม้กระทั่งที่อยู่ในบริเวณช้างม่อย เราเล็งไว้เกือบ 10 กว่าเจ้าแล้วที่คิดว่าน่าจะลงสปอนเซอร์ เพราะอย่างเลยคือเราไม่อยากถูกจัดการด้วยทุนใหญ่ เรารู้แหละว่าถ้าเราเอาสิ่งนี้ไปขายเครื่องดื่มบางอย่าง โรงแรมบางอย่าง เขาน่าจะสนใจแต่เขาน่าจะมีเงื่อนไขต่างๆ กับเรา ซึ่งเราไม่อยากที่จะให้เราเป็นแค่คนทำ เราอยากเป็นคนร่วมคิดร่วมทำ ดังนั้นเราเลยเล็งไปที่กลุ่มตัวละครในชุมชนในย่านก่อน ก็คือเล็งไปที่คนที่เรามองไว้แล้ว 

แต่ก็ไม่รู้เลยว่า Crowdfunding จะเวิร์กหรือเปล่า มันต้องลองทำ อย่างรอบแรกใช้วิจัยทำ ก็แค่จบตามปีวิจัย ปีต่อไปวิจัยไม่มาก็หายไป หน่วยงานรัฐมาช่วย สุดท้ายของทุกอย่างกลับไป กลายเป็นว่าการจัดตั้งอีเวนต์ขึ้นมาหนึ่งครั้งแล้วก็จบไป ทีนี้ก็เลยลอง Crowdfunding เพื่อดูว่าเวิร์คหรือไม่เวิร์ค ซึ่งผมรู้สึกว่าถ้าเราได้มาเรียน นักศึกษาปี 1 2 3 ที่เรามาช่วยกัน งานปีนี้จะเป็นยังไง ก็ท้าทายเราเหมือนกันนะว่ามันจะเวิร์กหรือว่าไม่เวิร์ก ซึ่งผมมองว่าถ้าเป็นการทดลอง เป็นการทดลองที่น่าสนใจมาก

ทำไมอาจารย์ถึงมองว่าวัฒนธรรมหนึ่งๆ ในชุมชนชุมชนหนึ่งถึงเป็นภาพแทนการตีโจทย์อนาคตของเมืองเชียงใหม่

อย่างที่ผมตอบกลับไปก็คือเชียงใหม่มันไม่ตาย เพราะมันเป็นเมืองมหาวิทยาลัย เมืองมหาวิทยาลัยมันเอาคนวัยรุ่นเข้ามา แรงงานชั้นดีเข้ามาตลอด ซึ่งมันเลยทำให้เมืองคึกคัก แล้วคนวัยรุ่นที่เข้ามาตั้งแต่อายุ 18 ถึง 22 ที่เข้ามาเรียนในเชียงใหม่ในช่วงเวลา 4-5 ปี ผมพูดเลยว่าทุกคนหลงรักเชียงใหม่ ไม่ใช่หลงรักที่ประเพณี ไม่ได้หลงรักที่ประวัติศาสตร์ แต่หลงรักวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมรองเช่น ดนตรี การกิน การอยู่ร่วมกัน ซึ่งตรงนี้แหละมันอยู่ในต้นทุนการใช้ในชุมชน แต่ละชุมชนมีสิ่งที่ใช้และต้องการต่อยอด แต่ละชุมชนมีสิ่งที่ทำอยู่และเป็นเสน่ห์ 

ซึ่งในปัจจุบันคำว่าชุมชน คำว่า Community ผมว่ามันมี 2 ประเด็น อันแรกคือ Area Based เช่น ชุมชนช้างม่อย ชุมชนล่ามช้าง พื้นที่ตรงนี้มีวัฒนธรรมอะไรหรือมีกิจกรรมอะไรที่ผูกคนไว้ กับชุมชนที่แปลว่า Topic Based เช่นชุมชนกาแฟ ชุมชนคราฟต์เบียร์ ชุมชนศิลปะ ตอนนี้เราจะทำยังไงให้ 2 ชุมชนนี้อยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่มันเกิดขึ้นที่เทศกาลคนข้าวยาคู้ที่ช้างม่อยเป็นกิจกรรมแบบ Area Based ของชุมชนช้างม่อย มันเริ่มซิงค์ลงตัวกับกลุ่มศิลปะและการออกแบบที่เป็นชุมชน เรื่องของการทำ Projection Mapping  ชุมชนของการทำศิลปะบางอย่าง มันมีเครือข่ายแล้ว ดังนั้นตอนนี้มันกำลังรวม 2 ชุมชนร่วมกัน ซึ่งผมว่าถ้าเมืองเชียงใหม่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมกันเชิงประเด็นมาอุปถัมภ์ชุมชนที่เป็น Area Based แต่ละชุมชนจะมีทิศทางของตัวเอง 

ผมขอยกตัวอย่างภาพที่ชัดอีกภาพหนึ่งก็คือชุมชนควรค่าม้าสามัคคี ที่มีเบิร์ด Addict Art ที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มศิลปะแบบ Street Art เข้าไปทำงานกับชุมชน ดังนั้นภาพที่เป็นสตรีทอาร์ต ถูกทำงานร่วมกันกับหัวหน้าชุมชนควรค่าม้าสามัคคี เลยทำให้พื้นที่และชุมชนมันซิงค์ลงตัว ควรค่าม้าเลยกลายเป็นย่านอาร์ต แต่ย่านอาร์ตกับช้างม่อยมันก็ไม่ใช่อาร์ตแบบควรค่าม้า ดังนั้นช้างม่อยก็กำลังผลิตภาพย่าน ผลิตประสบการณ์ของย่านผ่านการทำงานทั้งสองอย่าง ซึ่งผมว่าอันนี้น่าสนใจ

นอกจากตัวอาจารย์แล้ว เท่าเราเห็นกันก็จะมีคนรุ่นใหม่ๆ อยากทำงานขับเคลื่อนเมืองหรือพื้นที่ในท้องถิ่นเยอะมาก อาจารย์ว่าเรื่องนี้บอกอะไรคะ

เรื่องนี้บอกว่าเขาอยากอยู่เชียงใหม่ เรื่องนี้บอกว่าเขาเห็นว่าเมืองเชียงใหม่มีประเด็นในการต่อรองและอยากพัฒนาต่อยังไง แต่ละคนใช้สรรพกำลังและความรู้ของตัวเองในการเคลื่อนเมือง แก๊งสื่อ แก๊งศิลปะ แก๊งกาแฟ แก๊งเบียร์ เหล่านี้ใช้สรรพกำลังของตัวเองสร้างมันขึ้นมา เพราะเขาอยากต่อรองให้เมืองเขายังเป็นเมืองที่ยืนได้ หรือสื่อเอง ทำไมต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ สื่อต้องทำงานเพื่อทุนใช่ไหม สื่อสามารถปั้นประเด็นในเมืองได้ แล้วก็ทำงานในเชียงใหม่ได้ แล้วก็เล่าเรื่องเมืองที่มีทิศทาง มีข้อโต้แย้งที่ชัดเจนของตัวเองได้ ผมคิดว่านี่แหละมันสะท้อนให้เห็นเลยว่าเชียงใหม่มีนักคิดและนักทำเยอะมาก มีกลุ่มนักวิชาการที่แปลว่านักเรียนจบใหม่ First Jobber ที่อยากจะอยู่เชียงใหม่ให้ได้เยอะมาก แต่ในเมื่อกลไกของรัฐไม่เคยทำให้เขาอยู่ได้ เขาก็ต้องอยู่ในรูปแบบของกลุ่มปัจเจก กลุ่มเอกชน ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราต้องสนับสนุนเรากันเอง ว่าเราเชื่อว่าเชียงใหม่มันอยู่ได้ด้วยความคิดแบบนี้ด้วยองค์ประกอบแบบนี้ เราต้องสนับสนุนกัน

คนกลุ่มนี้ที่อยากอยู่บ้านแต่อยากพัฒนาเมือง เขาต่อรองกับอะไรอยู่คะ

ผมว่าแต่ละคนต่อรองกับองค์กรและหมุดหมายต่างกัน เพราะแต่ละอันก็จะมีโครงสร้างทางสังคมไปครอบอยู่ แต่ละคนมีประเด็นของตัวเอง ทุกคนทำงานเชิงประเด็นหรือทำงานที่ไปเจอกับระบบรัฐร่วมกัน ระบบรัฐมันคร่อมประเทศเราหมด ดังนั้นเขาก็จะเจอปัญหากับกระทรวง ปัญหากับองค์กรบางอย่างที่ไปต่อไม่ได้ ทั้งที่เขาควรจะทำงาน Support ประเด็นเหล่านี้ ผมว่าสิ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เจอปัญหาร่วมกันตอนนี้คือ ปัญหาของการไม่ถูกสนับสนุนด้วยต้นทุนหลายๆ ต้นทุน ซึ่งคนที่ควรจะเปิดก๊อกมันคือองค์กรรัฐ เพราะองค์กรรัฐไม่ได้ทำหน้าที่รับแผนแล้วมาส่ง หรือทำงานตามโจทย์ แต่เป็นคนอำนวยความสะดวกคนในเมืองมากขึ้น แล้วคนในเมืองที่เป็น Active Citizen ที่เราพูดกันทั้งหมดเป็นกลุ่มที่เดินออกมาจากกลุ่มพวก Ignorance  หรือพวกอยู่ไปวันๆ ออกมาแล้วว่าฉันจะไม่ยอมให้เมืองมันหมดไปอย่างนี้ ฉันต้องการทำตัวต่อรองเมืองในประเด็นของฉัน คนเหล่านี้คือคนคุณภาพ คือ Active citizen ที่ยุโรปยังตามหาเลย ยุโรปพอรัฐสวัสดิการมันดี คนมันก็ชินชา ไม่ทำอะไรใช่ไหม มันเลยมีแนวคิด Active Citizen ก็คือต้องเป็นประชากรที่ Active เชิงรุกหน่อย 

ประเทศเราเนี่ยเมืองมันไม่ทำอะไรเลย คนเราเลยต้อง Active เอง แต่คนที่เอาตัวรอดได้ คนที่ไม่ต้องการต่อรอง เป็นพวก Ignorance อยู่ไปวันๆ แต่คนที่กล้าเดินออกมาและ Active นี่คือประชากรที่มีคุณค่ามาก ซึ่งรัฐต้องให้การสนับสนุนสิ เขาไม่ใช่ศัตรูของรัฐ แต่เขาเป็นคนที่กำลังจะพัฒนาด้วยกัน ถ้ารัฐมีเป้าหมายเหมือนกันว่าพัฒนาเมือง กลุ่มคนเหล่านี้แหละคือกลุ่มคนที่รัฐต้องให้ทุน รัฐต้องสนับสนุน รัฐต้องนำพา ต้องดันหลัง ไม่ใช่ว่าเราต้องไปขอเอกชนแล้วก็ยอมให้เอกชนจับมือเราเขียนเพื่อผลประโยชน์ของเอกชนด้วยทุนใหญ่

ในวันที่อาจารย์สอนหนังสือ แล้วมาทำงานเพื่อชุมชน จนชวนนักศึกษาลงมาทำงานให้เชียงใหม่เป็น “เมืองในฝัน” จากวันแรกจนถึงวันนี้อาจารย์คิดว่าตัวเองทำสำเร็จแล้วหรือยังคะ

ผมว่าในฐานะอาจารย์ ผมมีความหวังมากว่าเด็กที่เรียนกับผม เด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยนี้จะสามารถทำงานสถาปัตย์ เป็นสถาปนิกให้เมืองตัวเอง ให้ชุมชนตัวเองได้ ดังนั้นความฝันของผมในฐานะอาจารย์ ผมก็ยังรออยู่ว่ามันจะมีใครไหมที่กลับบ้านไปเป็นสถาปนิกที่ทำงานชุมชนตัวเอง แล้วต่อรอง สร้างประเด็นและทำให้เมืองเขาน่าอยู่ได้

ส่วนผมในฐานะนักวิจัยที่ทำงานกับเมือง ผมรู้สึกว่ามันทำไปเรื่อยๆ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมันเป็นความสำเร็จ Project ต่อ Project แต่มันไม่ใช่ว่าไม่ต่อเนื่องกัน มันต่อเนื่องกันได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการไปถึงภาพฝันเมืองที่ผมอยากอยู่ได้ ในตอนนี้ผมก็ยังไม่สำเร็จ เพราะว่ามันต้องอาศัยไม่ใช่แค่อาจารย์สถาปัตย์คนเดียว มันต้องอาศัยองคาพยพ อาจารย์มากมาย และเมืองมากมายที่ทำให้เมืองมันอยู่ได้อย่างที่ผมบอก ซึ่งการทำงานของผม ด้วยแรงของผม ด้วยความรู้ของผม มันเป็น Area Based ผ่านความรู้ทางสถาปัตย์ มันไม่ใช่ฮีโร่ขนาดนั้นที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ แต่ผมพยายามและไปต่ออยู่  ดังนั้นมันจะทำให้ผมรู้สึกว่าผมได้พยายามกับเมืองนี้แล้ว และผลได้ทำเต็มที่ในฐานะคนในเมือง Active Citizen  คนที่มีศักยภาพและความรู้ทางสถาปัตย์เพื่อช่วยเหลือเมืองบางอย่าง ดังนั้นผมมองความสำเร็จ Project ต่อ Project เพื่อเติมใจตัวเอง แต่ว่าหนทางที่ทำต่อไปมันทำไปเรื่อยๆ มันไม่มีวันจบหรอก เพราะเมืองมันมีประเด็นเกิดขึ้นและหายไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันจะทำให้ผมแรงไม่หมด และมันมีคนมาทำต่อก็คือ ทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นเครือข่ายที่เป็นสิ่งที่เราทำงานต่อกันไปเรื่อยๆ ผมจะแรงดีอย่างนี้อีกกี่ปี อีก 5-6 ปีผมจะเลข 4 แล้ว มันจะแรงดีอย่างนี้ ลงพื้นที่ สู้เด็กใหม่ๆ ได้ไหม ก็ไม่ ดังนั้นเราก็ต้องสร้าง Network ส่งต่อ แล้วคนรุ่นใหม่ที่มาแทนเราก็จะทำงานเพื่อเมืองต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นผมคิดว่างานในฐานะคนเชียงใหม่ยังไม่สำเร็จ แต่ผมตั้งเป้า Project ต่อ project เพื่อหล่อเลี้ยงความเชื่อบางอย่าง แล้วก็การทำงานเพื่อเมืองบางอย่างเพื่อไปสู่ภาพฝันของทุกคน เชียงใหม่มันต้องเป็นของทุกคน

ถ้าไม่นับว่าเป็นเมืองที่อาจารย์อยากอยู่ อะไรคือ Passion ในการทำงานกับชุมชนของอาจารย์คะ 

ผมรู้สึกว่าคนหนึ่งคนมันมีภารกิจสำคัญก็คือการส่งต่อ และผมรู้สึกว่าการส่งต่อให้กันนี่แหละมันคือความงดงาม เราอาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องมากมายเท่ากับความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วย เพราะฉะนั้นงานศพในอนาคตมันก็ไม่ใช่งานที่มีแต่ญาติทำ แต่มันเป็นคนที่เราเคยทำงานร่วม หรือแม้กระทั่งอนาคตของสังคม มันคืออนาคตของคนพลัดถิ่นแล้วมาผูกพันกัน ผมชื่นชอบผู้คน ผมชื่นชอบความสัมพันธ์ ดังนั้นผมมีความรู้สึกสนุกสนานเหลือเกินเวลาที่ได้รู้จักคนใหม่ๆ ผมรู้สึก Enjoy เหลือเกินเวลาที่มีเครือข่ายใหม่ๆ ที่ผมได้เข้าไปร่วม และเป็นส่วนหนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้เข้าไปเป็นผู้เล่นหลักหรือเป็นผู้เล่นรองนะ แต่รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ เพราะฉะนั้น Passion ของผมก็คือการมองมนุษย์เป็นมนุษย์ การที่มองว่าทุกคนมีความรู้และสรรพกำลังต่างๆ กัน แล้วช่วยเหลือกัน มันเป็น Passion ของผมมากๆ 

ผมรู้สึกว่าไม่ใช่สถาปัตย์เป็นคำตอบของเมืองอย่างเดียว แต่สถาปัตย์มันต้องการคนในชุมชน ต้องการความรู้ทางโน้นทางนี้มาช่วยด้วย และการที่เราไม่เอาวัยวุฒิและคุณวุฒิเป็นกำแพง เป็นเพดานในการทำงานเมือง มันทำให้เมืองน่าอยู่มากเลย ไปต่อง่ายมาก ดังนั้นผมคิดว่าคนคือ Passion ในการทำงานของผมครับ

สิ่งเหล่านี้เติมเต็มจิตใจอาจารย์แค่ไหนคะ

ผม Fulfill มากๆ เวลาที่ผมสามารถทำให้ประเด็นของคนในชุมชนกลายเป็นวิจัยได้ แล้วผมก็เอาสิ่งที่ทำไปเป็นวารสารวิชาการได้ มันก็เติมพื้นที่ทางวิชาการผมได้ด้วย ซึ่งผมคิดว่านี่แหละความหมายของการมีชีวิตของผม ผมเป็นคนเชียงใหม่ที่มาอยู่เชียงใหม่ ไม่ได้มาอยู่เพื่อกูสบายแล้ว กูรอดแล้ว กูมีเงินเดือนแล้ว มีชีวิตช้าๆ อย่างที่อยากมีได้แล้ว เพราะฉันต้นทุนพร้อมแล้ว ไม่ ผมมองเห็นว่ามีภูวาอีกแน่นอน คือมีเด็กอย่างผมอีกแน่นอนที่โตมากับสังคมซ้ำซากแบบนี้ เด็กอย่างภูวาที่มันโตมาในมหาวิทยาลัย เด็กอายุ 15-18 ที่รักเมืองนี้ อยากอยู่เมืองนี้ที่เต็มไปด้วยศิลปะ เต็มไปด้วย Subculture ที่ดีๆ แต่อยู่ไม่ได้ ดังนั้นผมรู้สึกว่าผมพยายามต่อรองให้เกิดความเป็นไปได้ในเมือง ซึ่งสิ่งที่ผมทำ ผมทำเพื่อตัวเองและเพื่อคนในเมืองที่อยากอยู่เชียงใหม่ได้ผ่านประเด็นทางสถาปัตย์ 

ผมชอบคำพูดที่พูดว่า Only young John, Save old John ก็คือมีแค่จอห์นที่เป็นหนุ่มนั่นแหละ เซฟจอห์นที่เป็นคนแก่ ก็คือผมกำลังสร้างคนที่เป็น Young  ภูวาเพื่อมา Save Old ภูวา หมายความว่าเราทำงานเพื่อส่งต่อ เราเข้ามามหาวิทยาลัย การเป็นอาชีพอาจารย์ซึ่งเป็นการส่งต่อความรู้ และเป็นการส่งต่อความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับเมืองนี้ ดังนั้นผมส่งต่อไปเรื่อยๆ เพื่อหวังว่าสักวันจะมีคนแบบภูวาที่ดีกว่าแน่นอน แล้วไม่จำเป็นจะต้องเป็นภูวาก็ได้ มาดันงานเมืองนี้แล้วมาสร้างเมืองนี้ให้มันน่าอยู่ขึ้นเรื่อยๆ และผมคิดว่านั่นแหละก็จะเป็นการเติมเต็มผมมากที่สุด มากกว่าแค่ผมทำวิจัยสำเร็จ ทำอีเวนต์เพื่อเมือง ทำความรู้ ทำกลไกเมืองต่างๆสำเร็จแล้ว แต่ว่าการไปต่อของเมืองมันไม่ได้จบวันนี้ มันไปต่อได้เรื่อยๆ


About Storytellers

ทำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นงานหลัก มีครีเอทีฟเป็นงานรอง รับจ้างเขียนหนังสือเป็นงานเสริม เลี้ยงหมาชื่อปิ๊ดปี๋เป็นงานอดิเรก ทำแมกกาซีนออนไลน์เป็นงานเลี้ยงแพสชั่น และกำลังจะได้กลับไปสอนหนังสืออย่างที่เคยหวังไว้