เรารู้จักพี่ไกด์-รัฐศักดิ์ สกุลวัชรอนันต์ ครั้งแรกจากรายการ Divided คนไม่ยอมเกม ที่เขาเป็นผู้แข่งขันซึ่งเต็มใจรับเงินรางวัลก้อนที่น้อยที่สุดกลับบ้านไป
เราตกใจว่าทำไมเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าไม่นับว่ามันเป็นกลไกของเกมที่ทุกคนต้องได้เงินรางวัลไม่เท่ากัน เรานับถือใจอย่างมากที่เขาสมัครใจเลือกแบบนั้น
ไม่กี่ปีให้หลัง เราเห็นพี่ไกด์อีกครั้งในฐานะผู้ประกาศข่าวที่ทีวีช่องหนึ่ง ซึ่งจากผู้แข่งขันรายการเกมโชว์กลายมานั่งอ่านข่าวบนจอทีวี ถือว่าเป็นก้าวที่กระโดดข้ามกำแพงอย่างมาก ก่อนเราจะพบกันที่สื่อ-ออนไลน์ชื่อ Modernist (ปิดตัวแล้ว) ที่เราได้ไปทำงานในฐานะบรรณาธิการ และพี่ไกด์มาช่วยอ่านข่าว พร้อมดูแลฝ่ายข่าวอยู่กลายๆ ก่อนเราทั้งคู่จะย้ายที่ทำงานออกมาทำสื่อเศรษฐกิจชื่อ Reporter Journey โดยไกด์ขึ้นไปเป็นบรรณาธิการบริหาร และดูเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่นั่น ส่วนเราก็มาขึ้นสื่อในเครือที่ชื่อ Rhythm ซึ่งพูดเรื่องบันเทิง ไลฟ์สไตล์ และศิลปะ
แต่ตอนนี้พี่ไกด์ประกาศลาออกแล้ว ซึ่งจะมีผลสิ้นปี 2567 นี้
หลังเลิกงาน พี่ไกด์ก็เปิดร้านอาหารเวียดนามที่ทุกอย่างอร่อยมาก ก่อนจะพักกิจการไปพัฒนารูปแบบชั่วคราว แล้วเราก็มารู้อีกที่ว่าพี่ไกด์ดูแลประสานงานคู่ค้าต่างประเทศให้กับโรงงานเมล็ดพลาสติกรีไซเคิลชื่อ DCL Plastic ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว รวมถึงสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ทั้งแบบห้องปิด หรือการสอนตามโรงเรียนต่างๆ
เท่ากับว่า พี่ไกด์สวมหมวกทั้งหมด 4 ใบ และทำทุกอย่างไปพร้อมๆ กันได้ดีมาก
สมกับชื่อ @guidemultiskillman ที่เป็นชื่ออินสตาแกรมของเขา
เราสงสัยมาตลอดว่า จริงๆ แล้วพี่ไกด์เคยหมดแพสชั่นกับอะไรในชีวิตบ้างมั้ย เพราะจากที่รู้จักและสนิทสนมกันมา เราไม่เคยถามคำถามนี้เลยด้วยซ้ำ เลยทำให้ในวันที่เราออกจาก Rhythm มาทำสื่อเสาวรสเต็มตัว และคอลัมน์หมด Passion ยังว่าง เราถือโอกาสกลับมาที่บ้านหลังเดิมอย่าง Reporter Journey เพื่อมานั่งคุยกับพี่ไกด์ถึงหมวกหลายๆ ใบที่เขาสวม การบริหารจัดการเวลา เนื้องาน และการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากหลายหน้าที่ๆ เขาได้รับ
พี่ไกด์ชอบพูดบ่อยๆ ว่าเราต้องเรียนรู้และเติบโตทุกวัน เมื่อก่อนไม่ค่อยเข้าใจหรอก
แต่จากเทปเกือบสองชั่วโมง เราว่าเราโคตรเข้าใจเลย ว่าทำไมเราต้องเรียนรู้และเติบโต
1
ฝ่าโลกธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย
ความฝันวัยเด็กของพี่ในหัวมีคำว่านักธุรกิจมั้ย
ไม่มี ไม่ได้อยากเป็น
แล้วอะไรที่นำพามาสู่การที่พี่ถูกมัดมือชก ที่จะต้องมาเป็นหนึ่งในคนที่ต้องรันธุรกิจกงสี
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนปี 3 ตอนนั้นพี่อายุประมาณ 21 ซึ่งพี่เรียนวิศวะการบิน แม่พี่ก็ทำงานกงสีอยู่คนเดียว ประกอบกับช่วงเวลานั้นก็แยกกันอยู่กับคุณพ่อ ก็เลยมีแค่พี่กับแม่ แล้วธุรกิจกงสีที่มีคนในครอบครัวเยอะๆ มันมีปัญหาเยอะมากๆ เลยจะเป็นการบริหารความอลหม่านแบบนี้ แล้วแกเริ่มรับการบริหารธุรกิจ บริหารความสัมพันธ์เริ่มไม่ไหว ก็เลยเริ่มๆ ถามว่า เมื่อไหร่ไกด์จะมาช่วยแม่ แม่พูดจนเราก็ใจอ่อนเข้าไปช่วย
แล้วรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับธุรกิจที่บ้าน
รู้ว่าทำเม็ดพลาสติก รู้แบบบางๆ เพราะเราไม่ได้เข้าไปทำ เราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ แล้วเราเรียนวิศวะการบินเนื้อหามันหนักมาก ไม่มีหัวที่จะไปรับเรื่องจากคนอื่น
ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่านั้นเลย
ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่านั้น บางทีเราก็รู้เรื่อข้างในบ้าง แต่ในที่สุดพอเราเข้ามาในธุรกิจจริงๆ ให้มองแบบตัดความเป็นคนในครอบครัวออกไปก่อนคือ ผู้ถือหุ้นทุกคนมีความเป็นคนหมด ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งอันนี้ก็ยากอีก
พอพี่ต้องเข้าไปแบบไม่รู้อะไรเลย พี่โดนรับน้องยังไง หรือมีใครสอนงานมั้ย
มันโชคดีที่ว่า ตอนที่พี่เข้าไป กงสีมันมีการจัดการปัญหาภายในหมดแล้ว มันก็เลยทำให้เหมือนเป็นทางสะดวกที่ได้ทำงานของเราแบบไม่มีการเมือง แต่พอมันไม่รู้อะไรเลยนี่แหละ เหนื่อย พี่เหนื่อยมาก พอเข้าไปแล้วเราไม่รู้อะไรเลย เหมือนเราเริ่มจากศูนย์ ซึ่งการรับน้องมันไม่ได้เกิดขึ้นในองค์กร มันเกิดขึ้นนอกองค์กรในวันที่พี่ไปเจรจาธุรกิจ กับการบริหารจัดการความรู้สึกกับญาติที่ทำงานด้วยกัน บางทีธุรกิจมันก็ต้องว่าด้วยความถูกต้อง แม่เราทำไม่ถูกนะ แต่ถ้าเราเข้าข้างมันก็เสียระบบรึเปล่า แต่ในขณะเดียวกันถ้าพี่เราทำไม่ถูก เราก็ต้องพูด พี่ยอมรับว่าหนักใจ แต่มนุษย์เรามีชีวิตสั้น มันต้องเจ็บเพื่อให้จบ ต้องยอมเคลียร์เพื่อให้ทำงานต่อไปได้
ธุรกิจเม็ดพลาสติกส่งออก มีการกำหนดยอดขายหรือว่าตัวชี้วัดยังไงบ้าง
ตอนนั้นยอมรับว่าไม่มี แต่ในความไม่มี มันไม่มีเพราะไม่รู้ด้วยว่าต้องทำยังไง คนในบริษัทก็ไม่รู้ด้วยว่าต้องเซ็ต KPI ตัวนี้ ด้วยความเป็นแม่ลูกเลยทำให้อาจจะไม่ได้เช็ตอะไรมากนัก มันก็จะมีจุดที่มันผ่อนผันกันอยู่ แต่พี่ก็ยังไปขายงานเยอะนะ ต่อให้ไม่ได้เซ็ต แต่พอมันทำไม่ได้ มันก็รู้สึกว่าต้องได้ดิๆๆ เพราะแม้ว่าไม่ได้เซ็ตแต่พอมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง มันเลยทำให้เราคิดว่า ไม่ต้องเซ็ต KPI หรอก แต่ต้องหาให้ได้ ต้องทำให้ได้ เพราะการที่เราได้ลูกค้าต่างชาติคือ การที่เราได้เงินสดมาเลย เพราะฉะนั้นมันเลยทำให้ว่า บริษัทไม่ได้บังคับ KPI แต่สถานการณ์มันบังคับว่ามันต้องได้ เพราะมันจะได้เอาเลือดมาเติม
ความยากอีกอย่างก็คือ พี่ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย และเรียนไม่ตรงสายด้วย ช่วงเวลานั้นพี่ประคองตัวเองยังไงบ้าง
(ตอบทันที) ไม่รู้เว้ย บางทีเส้นทางชีวิตของเรา มันไม่ได้บอกว่าเราทำยังไง เพราะในวันที่เราตัดสินใจทำ เราก็แค่รู้ว่าเราทำ แต่ว่าเราไม่รู้ว่าเราจะประคองตัวยังไง พี่เรียนปริญญาตรี 5 ปีจบ ไม่ได้จบ 4 ปี มันเป็นการบริหารเรื่องการเรียนกับการทำงาน แล้วก็เรื่องของครอบครัว มีปัญหาธรรมดามาก ถ้าย้อนกลับไปประคองยังไง พี่พยายามเซ็ตตัวเองให้อยู่ที่ว่า เรียนรู้และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อไปต่อ
หรือจริงๆ มันคือการ Improvise
ถูกต้อง แต่ก่อน Improvise พี่จะต้องเรียนรู้ ต้องยอมรับก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ยอมรับจากใจเลยว่าบางเรื่องเราผิดมาก เราไม่ได้อยากยอมรับในความเหี้ยของตัวเอง ทุกคนไม่มีใครรับเรื่องเหี้ยของตัวเองได้หรอก แต่ถ้าเราไม่ยอมรับ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราควรพัฒนาอะไร เพราะฉะนั้นเรายอมรับ เราไปต่อ ชีวิตมันก็คือการ Improvise แต่เราก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ให้เป็นเหมือนกัน
พอมาถึงตรงนี้ มีอะไรในธุรกิจนี้ที่ทำให้พี่เปลี่ยนข้างในของพี่บ้าง
พี่เปลี่ยนเยอะนะ เรื่องของการหาลูกค้าส่งออก เรื่องของตัวระบบการใช้ Online Media ในการหาแหล่งผลิต ทำการตลาดเราก็ใช้แพลตฟอร์มระดับโลก เรื่องของการที่จะลดต้นทุนพลังงาน อันนี้คือการเปลี่ยนส่วนธุรกิจ ส่วนถ้าถามพี่ว่ามันเปลี่ยนข้างในพี่ยังไง พี่ว่ามันเป็นการช่วยให้พี่เป็นคนคิดและทำธุรกิจแบบมีตรรกะมาก พี่เองค่อนข้างใช้ตรรกะในการตัดสินใจอยู่แล้ว เพราะเรียนวิศวะการบินมา แล้วก็เป็นครูสอนเลขด้วยว่าอะไรคือ Upside และ Downside สิ่งที่พี่ยอมรับได้คืออะไร เพราะฉะนั้นการที่พี่ได้ฝึกการตัดสินใจในเชิงธุรกิจจริงๆ มันทำให้พี่ลับคมตัวเองได้ไวกว่าคนอื่น มันช่วยให้พี่มองทุกอย่างเป็นระบบ แล้วเห็นความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ในการตัดสินใจหรือการมองแผนสำหรับธุรกิจอื่นๆ ทำให้เราเห็นถึงโอกาสและความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจและการบริหารธุรกิจว่ามันจะมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
2
ใช้การเป็นผู้ประกาศข่าวเข้าสู่โลกของเกมโชว์
แล้วอะไรทำให้พี่อยากเป็นผู้ประกาศข่าว
จริงๆ พี่อยากเป็นพิธีกรเกมโชว์ เพราะว่าพี่มีความรู้สึกว่าอะไรที่อยู่กับมันมาตั้งแต่เด็กแล้วอยู่ได้ อะไรที่เราอยู่กับมันได้แม้กระทั่งในความสุขและความทุกข์ นั่นคือสิ่งที่เราอยากเป็นทั้งชีวิต และเกมโชว์คืออันนั้น พี่ไปเล่นเกมโชว์ก็ด้วย ประมาณ 20 รายการ พยายามไปแคสติ้งพิธีกร แต่ประเด็นคือ ประเทศไทยเราไม่มีโอกาสที่ทำให้คนได้เป็นพิธีกรเกมโชว์แบบสายตรง ต้องเป็นนักแสดง มีผลงานหน้าจอมาก่อน ก็เลยคิดว่าแล้วสายนี้ล่ะที่มันเข้าใกล้ที่สุด
มันเกี่ยวข้องกันยังไง
เพราะว่าพี่เป็นคนค่อนข้างเสพข่าว พี่เป็นนักธุรกิจตั้งแต่ช่วงที่มาเริ่มทำงานที่บ้านตั้งแต่ประมาณปี 3 ยังไม่จบดีก็ต้องมาทำ มันก็เลยทำให้แบบว่าเราได้เห็นแนวคิดธุรกิจ ได้เรียนรู้ ได้ซึมซับ ก็เลยทำให้เราเป็นคนที่สังเกตเรื่องรอบตัว ก็เลยคิดว่าผู้ประกาศข่าวน่าจะเป็นเกมที่ง่ายสุดสำหรับเราแล้ว ที่น่าจะทำให้เราได้เริ่มเข้าใกล้ความฝันของเรา พี่ไม่ได้อยากเป็นผู้ประกาศข่าวนะ พี่อยากเป็นพิธีกรเกมโชว์
พี่เริ่มยังไงต่อ
พี่หว่านใบสมัครไปทั่วเลย พอเรารู้ว่านี่มันเป็นการกรุยทางที่จะพาเราไปสู่พิธีกรเกมโชว์ วิธีการของพี่ก็คือทำตัวให้พร้อมที่สุด เป็นคนที่พร้อมใช้งานทันที ไปสอบบัตรผู้ประกาศ ไปเรียนอบรมสื่อสารวิชาชีพก็ไปเรียน เรียนหมดจนรอในวันที่โอกาสเข้ามา แล้วก็ตอนนั้นพี่ไปสอบที่ช่องนึงก่อน แต่ไม่ติด เพราะตอนนั้นข้อสอบยากมาก แต่อีกช่องพี่ได้รับโอกาส ก็เตรียมตัวไปว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวอะไรบ้างที่ควรรู้ ข่าวกีฬาต้องรู้อะไร สังคม การเมือง เศรษฐกิจต้องรู้อะไร พี่ตอบได้หมดเลย แต่มันยากสุดคือว่า ตอนที่ไปสอบสัมภาษณ์จริง อันนั้นยากมาก เขาให้พี่วิเคราะห์สถานการณ์ว่าทำไมโดนัลด์ ทรัมป์กับคิมจองอึนต้องเจอกันที่เวียดนาม เจอแบบนั้นเลย
เท่ากับว่าวันนั้นต้องเตรียมตัวเยอะมาก
มาก (เน้นเสียง) เตรียมตัวกัน 3 รอบ จนรอบสุดท้ายพี่สอบแล้วเป็นการสอบสัมภาษณ์ที่ให้จัดรายการจริง ตอนช่วงวิเคราะห์ไม่กลัวหรอก เพราะเคยผ่านด่านการวิเคราะห์ธุรกิจมา รู้ว่าต้องวิเคราะห์ประมาณไหน แต่ในแง่ของการทำบทสัมภาษณ์ สัมภาษณ์แขก สัมภาษณ์นักวิเคราะห์ ออกมากวนตีนชิบหายเลย เวลาสัมภาษณ์มัน 10 นาที ช่วง 5 นาทีแรกถาม 15 คำ ตอบครึ่งพยางค์ แต่พอสุดท้าย เราเหมือนแกล้งให้เราลงเวลาไม่ได้ แต่สุดท้ายพี่ก็หาทางลงว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้เราจะมีบทวิเคราะห์กันต่อในเรื่องนี้ ติดตามกันต่อวันพรุ่งนี้ จบ เราลงแบบนี้ พี่สอบได้ที่หนึ่ง แล้วก็ทำงานที่นั่นอยู่ 3 ปี
พอสอบผ่านแล้ว พี่ต้องไปทำงานอย่างอื่นก่อนมั้ย หรือได้นั่งโต๊ะอ่านข่าวเลย
ได้นั่งเลย แต่ความเหี้ยคือพอได้นั่งเลยแล้วเรายังไม่มีประสบการณ์ พี่ได้อ่านข่าวต้นชั่วโมงก่อน 5 นาทีต้องอ่าน 5 ข่าว ข่าวละประมาณ 1 นาที ตีให้ว่าเปิดปิดก็ไปแล้ว 1 นาที เพราะฉะนั้น 5 ข่าวที่เหลือต้องอ่านให้เสร็จภายในระยะเวลา ถ้าคำนวณมาแล้วก็จะเป็นระยะเวลาประมาณ 48 วินาที การที่เราพูดสักอย่างหนึ่งให้เสร็จภายใน 48 วินาที มันไม่ใช่แค่ความเร็ว สติ คำพูดควบกล้ำ ทุกอย่างยากสุดตรงนี้แหละ ครั้งแรกติดๆ ขัดๆ มาก มันเลยทำให้ใช้เวลาฝึกไปเรื่อยๆ อยู่เหมือนกันในช่วงนั้น
เนื้องานมันตอบโจทย์พี่ขนาดไหนบ้างคะ
โจทย์ของพี่มันได้ถูกตอบตั้งแต่สอบผ่านแล้ว เลยคิดแค่ว่า พี่พร้อมจะพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุด แต่เนื้องานเจออะไร เจอทุกอย่าง รายงานสดก็ไป ม็อบก็ต้องไป ไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ก็เจอ มีอะไรที่ไม่คิดจะได้ทำก็คือได้ทำแต่เสี่ยงที่สุดในชีวิตก็คือไปทำสกู๊ปคนกลับจากต่างประเทศตอนช่วงโควิด ความยากของสกู๊ปนี้คือ เราต้องถ่าย Insert ให้เสร็จก่อนที่ผู้โดยสารคนแรกที่มาจากประเทศเสี่ยงก้าวเข้า มีเวลาถ่ายไม่เกิน 1 ชั่วโมง ถ้าสมมุติว่าผู้โดยสารคนแรกก้าวเข้าสู่อาคารผู้โดยสารเมื่อไหร่ แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากคนแรกขนาดไหน แต่เขาถือว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สีแดง ถูกกักตัวทันที
คือประสบการณ์ของพี่อาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่ากับคนที่ทำมา 10-20 ปี แต่พี่ว่าในช่วง 3 ปีที่มีสถานการณ์ที่มันเยอะและมันหลากหลาย คณิตศาสตร์เขาจะเรียกคำนี้ว่าค่าความแปรปรวน ความแปรปรวนคือมันไม่เคยอยู่นี่ วันนี้มันไปข่าวนี้ อีกวันไปฝั่งนี้ เป็น 3 ปีที่เข้มข้นเหมือนมาก
นอกจากประสบการณ์ที่ค่อยๆ ขัดเกลาแล้ว พี่เรียนรู้อะไรจากเพื่อนร่วมงาน หรือรุ่นพี่บ้าง
หลักๆ ในการทำงาน ความรู้มันไม่สำคัญเท่ากับการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน มันเป็น Soft Skill ที่มหาวิทยาลัยมันไม่ได้สอน แต่ต้องเรียนรู้เองว่าอะไรที่คนทำแล้วทำงานด้วยกันได้หรือไม่ได้ พี่ว่าทุกองค์กรมันมีความอิจฉาริษยากันหมด แต่ในขณะเดียวกันทุกองค์กรมันก็มีการส่งเสริมในแง่ของคุณความดีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่เราต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา ผ่อนสั้นผ่อนยาวแล้วก็รู้จักการสื่อสารนี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานข่าว
ถึงวันนี้ที่พี่ชีวิตที่ไม่ได้อ่านข่าวแล้วเป็นยังไงบ้าง
รู้สึกเหี้ย เหี้ยมาก มันเป็นงานที่อยากได้มาก แต่เหมือนว่าช่วงเวลานั้นมันคงมีเหตุผลของเขาที่มันมาถึงปลายทางตรงนี้ ก็ถือว่ามันเป็นช่วงเวลาประสบการณ์ที่ดีช่วงหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้ว่าการทำงานข่าวเป็นแบบนี้ แล้วการที่เราได้มาอยู่ในเส้นทางของความฝันของเรามันเป็นแบบนี้ แต่ถามว่าช่วงนั้นเสียดายไหม โคตรเสียดายเลยที่อยู่ดีๆ มันมีสิ่งนั้นเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นการเดินทางที่ดีสำหรับเราในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะเราจบกันด้วยดี
3
จากสื่อเก่าไปสื่อใหม่
อะไรพัดพาให้พี่มาทำสื่อออนไลน์
ช่วงที่เริ่มๆ เข้ามาวงการนี้ก็ได้มีโอกาสคุยกับพี่ริชาร์ต (วัชราทิตย์ เกษศรี-ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีพอร์ตเตอร์ เจอร์นี่ จำกัด) ที่งานทอล์กของ Modernist แล้วก็ได้จัดรายการร่วมกัน พอมาเจอกันแล้วสิ่งที่คุยกันก็คือ เราเห็นว่าพี่ริชาร์ตขาดคนพอดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาขาดแล้วเราเสนอตัวแล้วเขาจะต้องการเรานะ แต่เหมือนว่าพอได้คุยกัน ต่างคนต่างคุยกันแล้วพอมันมีอะไรที่มันตกลงร่วมกันได้แล้วไปด้วยกันได้ ตอนนั้นพอรู้ว่าเป็นสื่อด้าน Macro Economics ก็รู้สึกว่าอาจจะเป็นทางของเราเพราะพี่ก็มีประสบการณ์กับธุรกิจมาอยู่แล้ว พี่เลยรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยากในการที่พี่จะมองภาพรวมธุรกิจ ก็เลยได้ทำงานร่วมกัน
พี่เห็นโอกาสอะไรในธุรกิจสื่อ ถึงตัดสินใจลงทุน
พี่ตอบว่าพี่ไม่ได้เห็นโอกาสของธุรกิจสื่อ แต่พี่เห็นโอกาสของของตัว Corporate พี่รู้สึกว่าเราเห็นการเติบโตของมัน เราก็เลยรู้สึกว่าเราไม่เสียดายที่เราจะลงทุน เพราะฉะนั้นหมายความว่าเราเห็นโอกาสการเติบโต หนึ่ง-พี่ดูการเงิน พี่ก็เห็นว่ามีโอกาสเติบโตเป็นยังไง กับสอง-การต่อยอดธุรกิจต่างๆ แล้วก็รู้สึกว่ามันก็เห็นโอกาสในการเติบโต เพราะฉะนั้น พี่จะไม่ ตอบว่าพี่เห็นโอกาสในธุรกิจสื่อ พี่เห็นโอกาสในบริษัทฯ พี่เลยลงทุน
มันเป็นจักรวาลจัดสรรมั้ยที่เราได้ใช้ทักษะหลายๆ อย่างนี้เพื่อทำอะไรบางอย่างให้ธุรกิจของเรา
สิ่งที่พูดคือถูกเลย มันคือจักรวาลจัดสรร ซึ่งผมพูดกับคุณผู้อ่านตอนนี้เลยนะว่า เวลาโตขึ้นไป บางทีอย่าหาเหตุผลให้มันเยอะ บางเรื่องถ้าโชคมันจัดสรรแล้วยอมรับแม่งเลย พี่ก็ไม่คิดว่าสิ่งที่จักรวาลจัดสรรมามันจะอยู่จริงๆ พี่ก็ได้ใช้ความสามารถที่พี่มีประสบการณ์มาบ้างในการที่จะไปกับมัน
การทำสื่อเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจและการลงทุน พี่เรียนรู้อะไรจากคนเหล่านั้นบ้าง
พี่เรียนรู้ก็คือ พี่ต้องห้ามหยุดเรียนรู้ พี่มองว่าคนที่มันไปต่อได้ในธุรกิจ มันคือคนที่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอด เคยเห็นใช่ไหม นักแสดงรางวัลดีที่สุดแห่งปี ไม่ได้การันตีว่าจะมีงานต่อนะ เขาบอกว่าดีที่สุดในปีนั้น นักธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในปีนั้น เขาก็บอกแค่ว่าได้ในปีนั้นนะ ไม่ได้บอกว่าได้ในปีหน้า ตราบใดที่พี่ยังทำธุรกิจอยู่ พี่ยังต้องเรียนรู้และเข้าใจคนให้มากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่พี่รู้สึกว่าพี่เรียนรู้จากคนก็คือ นักธุรกิจที่ดีต้องเป็นคนที่เข้าไปนั่งในใจคน มันไม่ใช่คนที่รีดเอาแต่กำไร แต่ว่านักธุรกิจที่ดีต้องเป็นคนที่ต้องเข้าใจความต้องการของคน เพราะท้ายที่สุดแล้วบริหารการเงินยังไงก็ตามแต่ถ้าเราซื้อใจลูกค้าไม่ได้ก็เท่านั้น เรารู้หมดเลยว่าคนพวกนี้คือเขาเป็นคนที่ฟังลูกค้าและหาคำตอบและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าเก่งมาก ก็เลยรู้สึกว่าคงเป็น 2 สิ่งคือ เรียนรู้ว่าต้องเรียนรู้ และเรียนรู้ว่าเราต้องสร้างความประทับใจกับคนให้เป็น
ซึ่งการมาทำงานที่นี่ทำให้พี่ได้โอกาสกลับมาอยู่หน้าจอทีวีอีกครั้ง มันเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปบ้างมั้ยคะ
เติมเต็มมาก เหมือนว่างานที่เราทำก็ไม่ได้หายไปเพราะว่า เราก็ยังมีพื้นที่สำหรับของเราอยู่ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นโอกาสในการกลับมาที่ค่อนข้างดีแล้วกัน เพราะว่าในวันที่แยกจากที่เก่า เราก็จบกันด้วยดีแหละ ก็เลยทำให้เหมือนว่าพอเราไม่มีหน้าจอแล้วก็รู้สึกโหวงๆ เพราะมันก็เป็นความฝันเรา แต่พอเราได้กลับมาอยู่บนหน้าจอคู่กับพี่วิทย์ (สิทธิเวคิน) ก็โอเค รู้สึกปังมาก ปังที่สุด รู้สึกดีแล้วก็เติมเต็มกับตัวเองมาก นี่ตอบแบบไม่ตอแหลเลยนะ
พี่ทำงานกับเฮียวิทย์ เขามีความเป็นบู๊ เป็นบุ๋นมั้ย หรือว่ายังไง
มี บางช่วงก็ช่วยกัน รับลูกส่งกัน แล้วก็การทำงานกับเฮียจริงๆ ไม่ได้ทำงานแบบว่าอยู่ดีๆ มาปุ๊บแล้วคุยเลยนะ เขาต้องเสนอประเด็น คุยประเด็น บรีฟเฮีย บรีฟเสร็จ เขาอยากจะพูดตรงนี้ อยากจะสื่อสารแบบนี้ ใจความสำคัญอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นการทำงานกับเฮียก็คือว่าเป็นการสื่อสารกับเฮียเพื่อทำให้คอนเทนต์ที่เราสองคนเล่าแล้วมันมีความกลม
4
หมวกหลายใบ ในวันที่หมดแพสชั่น (แต่ก็กลับมาได้)
ในวันที่พี่สวมหมวกหลายใบ ทำธุรกิจหลายอย่าง มีหน้าที่หลายอย่าง พี่เรียนรู้อะไรบ้าง
พี่ว่าสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจคือการปรับตัว เพราะไม่มีธุรกิจไหนมีดีลเดียว ทุกร้านอาหารต้องมีผลิตภัณฑ์หลายตัว เม็ดพลาสติกพี่ก็คงไม่ได้ขายแค่ผลิตภัณฑ์ตัวเดียว รวมถึงสื่อเอง พี่ก็ไม่ได้ทำสื่อประเภทเดียว การที่เราทำงานหลายอย่าง ทำให้เรารู้ว่าเราควรต้องรู้จักในการเรียนรู้เพื่อหาโอกาสเพื่อกระจายความเสี่ยง ใช้คำว่าพี่ต้องเรียนรู้ ปรับตัว และกระจายความเสี่ยงให้เป็น
สรุปง่ายๆ คือสิ่งที่ว่าเป็นนักธุรกิจที่สอนมาในช่วงตลอด 10 ปี ซึ่งไม่ได้เยอะนะสำหรับคนทำธุรกิจจริงๆ พี่ว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเรียนรู้ เรียนอะไรใหม่ๆ เข้ามา เมื่อเราเรียนรู้เราจะรู้ว่าโอกาสมันมีที่ไหน มันจะสามารถเข้ากับเราได้มากน้อยขนาดไหน และสุดท้ายคือเมื่อเราเรียนรู้ว่ามีโอกาส โอกาสนั้นจะนำมาซึ่งการที่เรากระจายความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงได้เป็น มีอยู่ 3 อย่างนี้เอง
ในวันที่พี่หมดแพสชั่น พี่เห็นตัวเองเป็นยังไง
เหี้ยมาก เหี้ยเลย พี่โชคดีที่พี่เป็นคนมีแพสชั่นกับอะไรหลายอย่างมาก อาจจะไม่ใช่แค่การทำงาน มันเป็นชีวิต แต่ว่าถ้าวันไหนที่เราหมดแพสชั่น พี่จะเหี้ยมาก เหมือนอยู่ไปวันๆ อยู่ไปแบบ ไม่มีประโยชน์ มันทำให้พี่ใช้ชีวิตทำไมถ้าเราไม่มีเป้าหมาย ถ้าไม่มีความอยาก ต่อให้ไม่อยาก ก็ต้องรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรในแต่ละวัน แต่แพสชั่นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สมมติถ้าตื่นมาบอกว่า ไม่ได้อยากทำอะไร อย่าอยู่ ตายดีกว่า กับตื่นขึ้นมาแล้วกระหายเพื่อที่จะอยู่ เพื่อที่จะทำอะไรบางอย่าง พี่ว่านั่นมันคือแพสชั่น มันคือการที่เรากระหายและอยากทำอะไรบางอย่างให้มันดีที่สุด นั่นคือแพสชั่น และถ้าวันนั้นเราไม่มีแพสชั่น เราคิดว่าคง มันเป็นเรื่องที่น่าจะแย่ที่สุด
แล้วแพสชั่นในชีวิตของพี่ตอนนี้คืออะไร
ก็ยังเป็นพิธีกรเกมโชว์อยู่เหมือนเดิม ถ้าแพสชั่นของพี่ไม่ใช่อันนี้ พี่ก็คงไม่ทำธุรกิจสื่อ พี่ยังทำตรงนี้อยู่แต่ในขณะเดียวกัน พี่ก็ไม่ได้มีแค่แพสชั่นเดียว แพสชั่นของพี่คือการทำธุรกิจด้วย เพราะฉะนั้นชีวิตช่วงนี้มันก็ตอบโจทย์ทั้งการที่เราเป็นนักธุรกิจด้วย และก็การที่เราได้ทำตามในสิ่งที่เราอยากจะทำด้วย