เราคงพูดได้เต็มปากว่าถ้าไม่มีพวกเขาทั้ง 4 คน และเพื่อนๆ ของเขาอีกนับสิบซึ่งไม่ได้มาร่วมสัมภาษณ์ในวันนี้ด้วย จะไม่มี Passionfruts นิตยสารออนไลน์ที่ว่าด้วย “แพสชั่น”​ ของผู้คนอย่างแน่นอน

เพราะคนกลุ่มนี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญมากๆ ที่ทำให้เราได้ไอเดียตั้งต้นนี้มาพัฒนาต่อจนมันกลายเป็นรูปเป็นร่าง

คุณลองคิดดูว่าถ้าคุณ “อิน” กับอะไรมากๆ สักอย่างแบบซึมลึก แล้ววันหนึ่งคุณได้เจอเพื่อนๆ ที่ “อิน” ในเรื่องเดียวกันที่ไม่ใช่แค่หนึ่ง แค่สอง แต่เป็นหลักสิบที่ทำกิจกรรมซึ่งทุกคนต่างอินร่วมกัน มันจะเป็นความรู้สึกดีขนาดไหน

และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่า GSH+ หรือ Game Show Hangouts 

ซึ่งสิ่งที่ยึดเหนี่ยวพวกเขาคือ เกมโชว์ และกิจกรรมที่พวกเขาทำร่วมกันคือ การเล่นเกมโชว์ที่ทำจากโปรแกรม Microsoft Powerpoint ผ่านโปรแกรม Conferrence Call ในชื่อเล่นอิสระ โดยมีทั้งรายการที่พวกเขาชื่นชอบในวัยเด็กทั้งจากไทยและเทศ หรือการพัฒนาฟอร์แมตเกมโชว์ของตัวเองเอาไว้เล่นกันเอง (ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ เราบอกเลยว่าบางฟอร์แมตเวิร์กจริงๆ นะ) ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์

โดยถ้าถามว่าพวกเขาเล่นกันนานแค่ไหน เอาเป็นว่าชื่อ Game Show Hangouts มันมาจากโปรแกรม Google Hangouts ที่ตอนนี้กลายเป็น Google Meet ไปแล้ว เท่ากับ GSH+ อยู่กันมากว่า 12 ปีแล้ว! 

และจากที่เล่นเกมโชว์ออนไลน์อยู่หน้าคอมพิวเตอร์กันมาหลายนาน คราวนี้พวกเขาก็ขอย้ายฉากและเวทีจากโลกออนไลน์มาเล่นกันเป็นจริงเป็นจังในชื่อ Thailand’s Game Show Marathon โดยนำรายได้จากการชนะรางวัลนำไปบริจาคให้การกุศล ซึ่งผ่านพ้นไปแล้วเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

เราเลยเปิดบ้านเพื่อต้อนรับพลรรคคนรักเกมโชว์มาคุยกันเป็นพิเศษในวันนี้ โดยมีวิน-ศุภวิชญ์ งามสม, นัท-นันทวัฒน์ สาริกา, เก่ง-กิตติพงษ์ หนองมีทรัพย์ และโอ๊ค-นวพล พรหล่อ เป็นตัวแทนหมู่บ้าน GSH+ มานั่งสนทนากับเรา

ตลอดบทสนทนาเต็มไปด้วยความสนุกจากคนที่คุยด้วยภาษาและเรื่องเดียวกัน และความอินในสิ่งที่คนเหล่านี้เชื่อและทำมันอย่างต่อเนื่องร่วมสิบปี ซึ่งเราเชื่อเสมอว่าแพสชั่นของมนุษย์มันเซ็กซี่มากๆ ไม่ว่าเขาจะอินกับเรื่องอะไร พวกเขาทั้งสี่บอกว่า นอกจากความสนุกสนานที่ไม่ได้แค่สนุกไปวันๆ แล้ว มันยังมีส่วนผสมของมิตรภาพที่ได้รับจากคนที่รักและชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน ความรู้รอบตัวที่ไม่ใช่แค่รู้ไว้ใช่ว่า หรือการส่งอิทธิพลจากเกมโชว์ที่ทำให้หลายคนเลือกเรียนและทำงานในสายวิชาชีพนี้ด้วย

ดังนั้น มาเปิดใจสัมผัสพลังงานแพสชั่นจากคนกลุ่มนี้ผ่านบรรทัดเหล่านี้เลย

คุณได้สิทธิ์นั้น… เดี๋ยวนี้

จากซ้ายไปขวา: เก่ง, วิน (บน), นัท (ล่าง), โอ๊ค

สารพัดเพื่อน

ต้นกำเนิดจริงๆ ของกลุ่มเพื่อนกลุ่มนี้ก็เป็นวินเองนั่นแหละที่เริ่มสุมหัวเล่นเกมโชว์กับเพื่อนบนโลกออนไลน์ผ่านโปรแกรม Google Hangouts โดยก็ไปคัดเอารายการที่ดูอยู่บนหน้าจอทีวีมาลงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม Microsoft Powerpoint ซึ่งถ้าคุณลองไปดูในยูทูปของ GSH+ จะเห็นว่าพวกเขาเล่นเกมโชว์กันมาเป็นหลักสิบปีแล้วจริงๆ!

ซึ่งดูเผินๆ เหมือนอาจจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ค่อยๆ มีเพื่อนๆ ที่แอบมองเธออยู่นะจ๊ะค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคอมมูนนี้เรื่อยๆ

“ความรู้สึกเหมือนเจอเพื่อนน่ะครับ แต่เจอเพื่อนอีกกลุ่มนึงที่ไม่ใช่เพื่อนในโรงเรียน ในโรงเรียนเราคุยเรื่องเรียน เรื่องอื่นเราคุยได้ แต่เกมโชว์คือสิ่งที่เราชอบมากที่สุด เราเจอกลุ่มที่ชอบเรื่องที่เราชอบมากที่สุดแล้ว เรารู้สึกเหมือนปลดล็อกอะไรบางอย่าง ได้พูดอะไรบางอย่างแบบที่เพื่อนไม่ได้พูดกัน แบบ เฮ้ย ดูชิงร้อยฯ ป่ะ ชิงร้อยฯ สนุกมาก ก็รู้สึกว่ามันก็ปลดล็อกจริงๆ แหละ เหมือนเล่นเกมคอมพิวเตอร์แต่ไม่ได้เสียตังค์” โอ๊คบอกเรา

“เหมือนเรากินข้าวโต๊ะจีนใหญ่ๆ เราไม่อยากกินอันนี้ ไม่อยากคุยอันนี้ ก็หมุนโต๊ะนิดนึง ก็จะได้อันใหม่ละ แล้วก็คุยกับคนนี้ ลองดูนะ มันก็เป็นอะไรที่เชื่อมพวกเราเข้าด้วยกันได้ เบื่อเราก็เปลี่ยนได้ แล้วก็กลับมาประเด็นเดิมได้ เราเลือกได้หมดเลย” เก่งเสริม

โตมากับเกมโชว์

จากที่เราคำนวณเอาเอง ค่าเฉลี่ยของตัวแทนกลุ่ม GSH+ ที่มานั่งคุยกับเราวันนี้จะอยู่ที่ 23 ปี ดังนั้นเท่ากับคนกลุ่มนี้ “น่าจะ” เกิดในปี 2543 และรู้ความตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป ซึ่งยุคนั้นเกมโชว์ยังเป็นคอนเทนต์ที่เบ่งบานมากบนหน้าจอโทรทัศน์ มีรายการเกมโชว์ ควิซโชว์ วาไรตี้เกมโชว์ เป็นต้น 

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเพื่อนกลุ่มนี้อินกับเกมโชว์ขนาดไหน แต่เราแค่อยากรู้เพิ่มว่า เสน่ห์ของเกมโชว์สำหรับชาว GSH+ ในทรรศนะของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง

นัทเปิดหัวคำตอบออกมาก่อนเลยว่า เขาดูเกมโชว์เพราะไม่อินกับการที่-ที่บ้านของเขาชอบดูละคร

“ที่บ้านจะชอบเปิดดูละครกัน แต่เราไม่อินเลย ไม่รู้ทำไม แต่เวลาเราเปิดเกมโชว์สมัยก่อนทุกคืน มันเกิดความหลงใหลและสามารถเล่นตาม-ลุ้นตามเขาได้ เริ่มจากตรงนั้นก่อน เราไม่ค่อยชอบคอนเทนต์เดียวๆ ละครก็ละครไปเลย เราชอบคนเทนต์ผสมอย่างเช่นเกมโชว์ผสมละคร มันเริ่มทำให้เราไปติดตามคอนเทนต์สมัยก่อนที่เป็นพวกเกมโชว์ ที่เราเห็นเสน่ห์ของเกมโชว์ว่าสามารถเล่นตามได้ ก็สามารถลุ้นไปกับผู้เล่นได้”

ส่วนวินเองบอกเราว่า เกมโชว์อยู่ในความทรงจำของเขาตั้งแต่จำความได้นั่นคือ ตั้งแต่เป็นอายุ 6 เดือน!

“ฟังดูเหมือนเว่อร์ แต่ว่าตอนผม 6 เดือนก็ได้ดูแล้ว ก็เห็นระเบิดเถิดเทิงตอนปี 2543 แล้วก็ตามมาตั้งแต่ตอนนั้น มันมีเสน่ห์เพราะด้วยความที่ว่า คาดเดาอะไรไม่ได้ ความสนุกมันอยุ่ตรงนี้ มันลุ้นตาม มันเล่นตามได้ เราอยากจะเป็นกำลังใจให้เขาไปสู่จุดมุ่งหมายของเขา ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะ รางวัลที่เขาต้องการ เราก็เลยรู้สึกว่าเราชอบ”

“ต้องตอนเด็กๆ ที่อยู่ค่ายทหารครับ แล้วที่ค่ายกระจายสัญญาณช่องของทรูมา เราก็มีโอกาสดูช่อง X-zyte ก็จะได้ดูรายการของต่างประเทศ แบบโกโกริโกะ หรือ Run for the Money มันแค่เกมวิ่งไล่จับแต่มันทำให้คนดูรู้สึกเว่อร์วังมาก เหมือนเป็นเสน่ห์อะไรบางอย่างที่ดึงดูดเรา ตอนเย็นๆ กลับบ้านมาก็ได้ดูควิซ ของไทยบ้าง เป็นเกมบ้าง มันก็เป็นเสน่ห์บางอย่างของเด็กยุคนั้นที่อินเทอร์เน็ตไม่ได้เข้าทุกบ้านด้วย แล้วก็ไม่มีทางเลือกในการเสพสื่อบันเทิงเยอะ เราก็เลือกทีวีแหละ เพราะทุกบ้านมีทีวีเป็นตั้งต้นกันอยู่แล้ว เราก็ดูทีวี แล้วทีวีก็เสิร์ฟอะไรหลายๆ อย่างให้เรา” เก่งเสริม

“ถ้าถามเกมโชว์มีเสน่ห์ยังไง เราว่ายิ่งง่ายเลยก็คือโชว์-เกม ก็คือโชว์ (รายการ, มหรสพ) ให้เราดูคนเล่นเกมในรายการ เราสนุกตรงนั้น เราสนุกกับการลุ้น จากการเล่นตลกหรือเล่นเกมที่ใช้สมอง ถ้าถามตอนนี้มันจะเทียบว่าปัจจุบัน หรือเด็กรุ่นใหม่ๆ จะไปชอบแบบ ช่องพวกแคสต์เกมมากว่า เพราะว่าเราอยากดูเค้าเล่นเกม เกมโชว์ก็เหมือนกัน แต่ว่ามันสัมผัสได้ง่ายกว่า เราไม่เจออะไรข้างหน้า แต่รู้ว่าต้องทำให้ดีที่สุด” โอ๊คสรุป

เล่นในจอมันเบื่อแล้ว ก็เล่นมันทั้งวันทั้งคืนไปเลยแล้วกัน!

นอกจากที่พวกเขาใช้เวลาเล่นเกมโชว์ในจอเกือบทุกวัน ก็มีบ้างบางครั้งที่เพื่อนกลุ่มนี้เล่นเกมโชว์กันแบบนัดเจอตามร้านอินเทอร์เน็ตหรือคาเฟ่ต่างๆ ซึ่งวินและเพื่อนๆ ก็จะเล่นเกมพร้อมกับพร๊อพเล็กๆ ที่ทำมาจากบ้านมาเล่นกันในที่สาธารณะกันอย่างออกรสออกชาติ​ไปหน่อย จนมักถูกไล่จากเจ้าของสถานที่อยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 มา วินกับเพื่อนๆ ก็นัดเจอกันอยู่ทุกปี บางทีเล่นเกมกันอย่างที่บอกบ้าง บางทีก็นัดร้องคาราโอกะที่สอดใส้การเล่นเกมโชว์แล้วเอามาตัดออกอากาศเป็นรายการแบบ Fanmade บ้าง หรือไปเล่นเกมโชว์บ้านเพื่อนแล้วก็ทำ Vlog ด้วยก็มี

แต่วันนึงวินก็ไปสะดุดตากับไอเดียของการเล่นเกมโชว์ในช่วงเวลายาวๆ จากชาวต่างชาติท่านหนึ่ง

“คือฝั่งอเมริกามีสิ่งที่เรียกว่า 24 Hours Game Show Marathon ก็คือ เล่นเกมโชว์ 24 ชั่วโมง 24 รายการ ที่มีแหล่งมาจากรายการชื่อ 24 Hours People Panel ก็คือรายการที่มีพิธีกรหนึ่งคนกับ Panel อีกกลุ่มนึง (ผู้ร่วมรายการ) แล้วก็ทำอะไรก็ได้ นั่งคุยข่าว นั่งเล่นตลกกัน ตอบคำถามกั แล้วเขาก็เปลี่ยนรูปแบบจาก Panel จากรายการตลก เลยดัดมาเป็นเกมโชว์ 24 รายการโดยกลุ่มเพื่อน 4 คน ที่ชอบเกมโชว์ แล้วเขาก็ทำกันเพื่อการกุศล เค้ารู้สึกว่านอกจากคนดูได้ความสนุกแล้ว คนดูต้องได้อะไรให้กับสังคมด้วย ก็รวมเงินไปซื้อของเล่นให้เด็กๆ ที่ไม่สามารถซื้อของเล่นได้ แล้วเราก็ชอบแนวคิดเค้า เลยอยากทำในแบบของเรา” วินอธิบาย

พอวินได้ไอเดียนี้ที่เรียกมันว่า Thailand’s Game Show Marathon จึงลองเอาไปเสนอเพื่อน กลุ่มเพื่อนๆ ไม่รีรอที่จะตอบตกลง เพราะเหตุผลส่วนหนึ่งคือ ก๊วนเพื่อนกลุ่มนี้ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้ใช้เวลาเล่นเกมกันบ่อยๆ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง

“ก็อย่างที่เขาบอกเลยว่าอยากมาเล่น อยากมาเจอหน้ากัน เพราะเรารวมตัวมาเจอหน้ากันรอบนึงได้ยากมาก เราอยากนัดมาเล่นเกมโชว์กันก็คือเราอยากสนุก มาเจอหน้ากันเหมือนเพื่อนพบปะเจอกัน ได้นอนค้างกัน เพราะปกติบางคนก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องการออกจากบ้านอีก แล้วเรารู้สึกว่าเค้าเปิดทางให้เราละ เราก็อยากให้เวลาตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าอยู่บ้าน ปล่อยเวลาให้ไหลไปเรื่อย อยู่แต่หน้าคอม แล้วเหมือนออกจากคอมฟอร์ตโซนเราด้วย” วินขยายความ

“เหมือนมาราธอนรอบนี้จัดขึ้นเพื่อรอให้เราโตขึ้นจนอายุเท่านี้เพื่อออกมาเล่นแล้วก็เจอคอมมูนิตี้ที่สนุกแบบนี้ได้ แล้วอีกอย่างที่คำนึงคือช่วงของเวลา ถ้าเราเล่นกัน 24 ชั่วโมง ตาพวกเราตอนนี้โหรงกันหมดแล้ว (หัวเราะ) ก็เลยกลายเป็น 3 วัน” นัทเสริม

สุดท้ายก็เป็นการรวมตัวเพื่อนๆ 13 คนมารวมตัวกันที่พูลวิลล่าแห่งหนึ่ง และถ่ายทอดสดเล่นเกมโชว์กันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ซึ่งจากตารางพวกเขาวางไว้ทั้งหมด 24 รายการ มีทั้งรายการมหาชนทั้งเก่า ใหม่ รายการในตำนานทั้งไทยและเทศ รวมถึงรายการที่พวกเขาคิดกันเองก็หยิบมาเล่นด้วย โดยนอกจากรายการที่พวกเขาหยิบมาเล่นกันแล้ว ยังให้ผู้ชมที่เป็นแฟนๆ ของเขาเลือกรายการมาให้พวกเขาเล่นด้วย

แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างต้องใช้เงิน ซึ่งโชคดีว่ายังมีผู้ชมจากขอบหน้าจอคอยสนับสนุนทุนทรัพย์เพื่อให้ได้เล่นสนุกตามแพสชั่นของพวกเขา

“เรามีไลฟ์สดที่ไลฟ์กันเกือบทุกสัปดาห์อยู่แล้วชื่อว่าเล่นอิสระ แล้วก็เปิดเป็นโดเนท เงินทั้งหมดเราจะลงพอร์ตทั้งหมดเลย ซึ่งเราก็มีนายทุนเยอะเลยแหละ ก็ได้เงินมาประมาณ 30,000 บาท แล้วก็มีรุ่นพี่ที่น่ารักทั้งสองช่วยลงขันกับเรา” โอ๊คบอก

เงินลงขันพวกนี้ก็แปรสภาพเป็นค่าที่พัก ค่าเดินทาง และพร๊อพประกอบรายการต่างๆ ซึ่งที่เราว้าวและตกใจที่สุดคือ การลงทุนทำแผ่นป้ายแบบในรายการเกมโชว์ของค่ายดังที่ถอดฟอร์มจากต้นแบบเป๊ะๆ ด้วยวัสดุพีพีบอร์ด (ฟิวเจอร์บอร์ด) กว่า 30 ชิ้น!

ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การลงทุนแบบนี้ทำให้การเล่นเกมโชว์มันได้อรรถรสและมีสีสันมากขึ้นจริงๆ

ซึ่งปลายทางของการไลฟ์เล่นเกมโชว์ครั้งนี้ไม่ได้มีแค่การเล่นสนุกแล้วเลิกรา แต่เขายังรวบรวมเงินบริจาคทั้งจากผู้ชม และเงินที่แปลงมาจากการเล่นเกมโชว์ในการถ่ายทอดสด รวมกันเป็นสองส่วนและนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิดวงประทีป

ประสบความสำเร็จในแบบของเรา

มีอะไรวัดความสำเร็จของสิ่งนี้ได้บ้าง?

ยอดวิว? ยอดบริจาค? ยอดโดเนท?

เราไมไ่ด้คุยถึงสิ่งนั้นเป็นสาระสำคัญ เพราะปลายทางที่เป็นหัวใจใหญ่ในการทำ Thailand’s Game Show Marathon หรือแม้แต่เล่นอิสระที่เขาเล่นสนุกกันอยู่ทุกสัปดาห์คือ การได้เล่นเกมโชว์กับเพื่อนๆ ซึ่งมันเติมเต็มได้ยิ่งกว่าเพราะมันคือการเล่นเกมโชว์แบบเจอหน้าเจอตากับเพื่อนๆ แบบตัวเป็นๆ และการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงทั้งในการทำไลฟ์เกมโชว์ และกิจกรรมอื่นๆ

“ก็คืออยากมาเล่นกัน มาเจอหน้ากันจริงๆ มันเล่นกันต่อหน้ามันสนุกกว่าในออนไลน์ คือในออนไลน์เราก็สนุกกันอยู่แล้วนะ ก็เลยวางแผนไว้ว่ามารวมตัวกัน 3 วัน 2 คืน ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นแต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ณ สถานที่นั้น มันมากในช่วงเวลานั้น ซึ่งผมคิดถูกมากที่ตัดสินใจมา หลายคนคงตัดสินใจมาว่าอยากเล่นด้วย แล้วเราก็อยู่กันมานาน แก๊งเราเป็นคนที่ตัดสินใจทำอะไร ให้ทำเลย แล้วไปเก็บข้อผิดพลาดหลังงานเอา แต่ขอทำตรงนี้ให้มันสนุกไปก่อน จะไลฟ์ล่ม จะข้อความผิด ให้เราได้รู้ว่าความผิดพลาดคืออะไร ดีกว่ามาเสียใจว่าทำไมไม่ทำตั้งแต่แรก ก็นัดกันได้ แต่จริงๆ ได้เยอะกว่านี้นะ (หัวเราะ)” นัทบอกเรา

“เราในฐานะคนนั่งข้างหลังมันวุ่นวายมาก มันเป็นปีแรกที่ทำแบบนี้ เรามีประสบการณ์บ้าง แต่กับการคุมถ่ายทอดหลายกล้องมันคือสิ่งที่เราไม่เคยทำ เราพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเริ่มไลฟ์มาใช้ เราก็ต้องพยายามนึกภาพรายการทีวีว่า ตรงไหนต้องใช้ภาพอะไรยังไง เราพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด แล้วมันคือประสบการณ์ที่เราได้ทำ เพราะมันไม่ได้มีโอกาสง่ายๆ อีกที่จะได้ทำอย่างนี้” เก่งเสริม

“ยังไงก็คุ้มอะ ถ้าแลกกับประสบการณ์ กับความสนุกที่ได้เจอกันอะ มันคุ้มอยู่แล้ว” โอ๊คว่า

นอกจากสิ่งที่เรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในหลายมิติแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของกลุ่มเพื่อนกลุ่มนี้ที่เป็นผลพวงจากการนัดเล่นเกมโชว์กันทุกสัปดาห์ จนได้มาเจอหน้าเจอตากันเป็นกิจจะลักษณะคือ ความสัมพันธ์ฉันมิตรสหายที่เพิ่มพูนขึ้นอีกหลังจากจบงาน

“เรารู้จักกันนานๆ เราไม่ได้คุยแค่เกม เราคุยกันเรื่องชีวิตส่วนตัวมากขึ้น ก็เหมือนเป็นคนในครอบครัวผม ผมจะนิยามเวลาที่เรามาอยู่ด้วยกันในนี้ว่า เราอยู่กันเป็นพี่น้องนะ ก็คือ มีอะไรก็บอกมา แชร์กันมาเลย ช่วยแก้ได้ช่วย อยากจะไปไหนบอกได้เลย ผมทำไลฟ์เกมโชว์ 7 วัน บางคนก็มีติดเรียน ติดงาน ก็จะบอกให้เค้าไปเลย ตรงนี้มันเป็นแค่ที่พักใจที่หนึ่ง ส่วนเรื่องชีวิตก็เป็นอีกเรื่องนึงที่เราต้องไปโฟกัส แล้วก็ถ้ารู้สึกเบื่อ เหงา อยากหาความสุขเข้าตัวเองก็มาที่นี่ เราก็จะได้แชร์เรื่องต่างๆ กัน” วินสรุป

About Storytellers

ทำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นงานหลัก มีครีเอทีฟเป็นงานรอง รับจ้างเขียนหนังสือเป็นงานเสริม เลี้ยงหมาชื่อปิ๊ดปี๋เป็นงานอดิเรก ทำแมกกาซีนออนไลน์เป็นงานเลี้ยงแพสชั่น และกำลังจะได้กลับไปสอนหนังสืออย่างที่เคยหวังไว้

ช่างภาพที่ชอบแมว ชอบสีเขียว ชอบเฝ้าดูและเก็บบันทึกความเป็นไปของโลกผ่านภาพถ่าย