CiferAI สตาร์ทอัพไทยสู่อเมริกา และการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรม

ปี 2024 เราพูดถึง AI หรือ Artificial Intelligence ที่มีชื่อบัญญัติภาษาไทยว่าปัญญาประดิษฐ์กันอย่างเสียงดังฟังชัด ทุกวงการหยิบยกมันไปใช้ มันเข้าไปแทรกซึมอยู่ในแทบทุกอุตสาหกรรม และชีวิตของเราก็กำลังจะต้องหยิบมันมาใช้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย

หลายคนกลัวการที่ AI จะเข้ามา Disrupt หลายต่อหลายวงการหรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าการถูก AI บุกเข้ามาคือ การพัฒนาและฝึก AI ต่างหาก เพราะจากดราม่าที่เราเคยๆ เห็นกัน สิ่งละอันพันละน้อยที่โลกใบนี้ถูกหยิบมาพัฒนา AI ให้ฉลาดปราดเปรื่อง

แต่ใครจะรู้บ้างว่ามันคือการ “ขโมย” มาแบบหน้าด้านๆ ไม่ว่าจะงานเขียน งานข่าว งานศิลปะ งานวาด หรือดนตรีก็ถูกหยิบฉวยไปเทรนให้เจ้า AI ฉลาดจริงจัง ส่งผลให้ผู้พัฒนารวยร้วยรวย ทำเงินได้จากมันอย่างมหาศาลเป็นกอบเป็นกำ แต่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิต ข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้คนมหาศาล ที่สำคัญมนุษย์กลับไม่ได้อะไรกลับมาเลย แถมผิดกฎหมายด้วย 

เราเลยอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างตรงจุด 

มีคนกลุ่มหนึ่งเห็นถึงความน่าเป็นห่วงนี้อย่างจริงจัง เลยประสานมือพัฒนาไอเดียจนได้ CiferAI ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อปลายทางคือ การทำให้ข้อมูลนั้นสะอาด ปลอดการขโมยมาอย่างไม่ถูกต้อง แต่ยังได้เนื้อได้หนังของปัญญาประดิษฐ์ที่ยังคงฉลาดล้ำ และสามารถเทรน AI จนได้ข้อมูลที่เข้มข้น ครบถ้วน ถูกต้องตามแง่กฎหมายรวมถึงจริยธรรมทุกอย่าง

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจคิดว่านี่คือไอเดียของชาวต่างชาติล้ำๆ ทั่วไป แต่คุณจะเชื่อมั้ยว่า ทั้งหมดนี้คือฝีมือคนไทย!

Passionfruits ได้รับเกียรติจากสองผู้ก่อตั้ง CiferAI อย่างรัน-มิรันดา ทรงพัฒนาศิลป์ และเอก-ดร.ไกรกมล หมื่นเดช มานั่งเล่าถึงความตั้งใจจากแพสชั่นในการทำงานเทคมาอย่างยาวนาน การศึกษางานวิจัยอย่างลึกซึ้ง

และจุดเปลี่ยนจากธุรกิจเดิมที่ใช้ AI เพียงแค่เพื่อผลตอบแทน กลายเป็นอยากทำเพราะอยากเปลี่ยน AI ให้ดีขึ้น ซึ่งเราว่าไอเดียนี้ก็น่าจะเข้าท่าทีเดียว เพราะมีบริษัทเทคยักษ์ใหญ่สนใจและร่วมประสานมือกับ CiferAI ไปร่วมงานแล้ว

คุณจะใช้ AI ช่วยอ่านบทความให้คุณฟัง หรือสรุปมันเป็น Bullet Point สั้นๆ ก็ได้ 

แต่ใจความของมันมีแค่ว่า 

การพัฒนา AI ให้มีจริยธรรม สำคัญไม่แพ้กับการทำให้ AI ฉลาด

และทั้งหมดนี้คนไทยเป็นคนทำ

1
หนึ่งปีสู่เป้าหมายเดียวกัน

คนในวงการสายเทคและสตาร์ทอัพคงเคยได้ยินชื่อรันมาบ้างแล้ว เธอคือสุภาพสตรีที่เก่งกาจในระดับหาตัวจับยากของวงการเทคไทย เพราะก่อนหน้านี้รันเคยนั่งตำแหน่งบริหารหลายบริษัททั้ง 11street และ QuantX ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการลงทุนในสิงโปร์ รวมถึงกองทุน V Ventures ส่วน ดร.เอก เองก็เป็นนักวิจัยและอดีตอาจารย์อยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะย้ายไปเป็นนักวิจัยที่ Max PIanck Institute และภายหลังที่ CISPA Helmholtz Center for Information Security ที่เยอรมันนี 

แรกเริ่มเดิมที ทั้งสองพบกันในการทำงานที่สตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง คนหนึ่งทำงานวิจัย อีกคนก็เจนจัดอยู่ในวงการสตาร์ทอัพ เหมือนจะดูต่อกันไม่ติด แต่เพราะ AI นี่แหละ ที่ทำให้ทั้งสองคนเริ่มเชื่อมต่อกันด้วยความสนใจที่คล้ายกัน

ซึ่งกว่าจะตัดสินใจลงเรือลำเดียวกัน ถือว่าใช้เวลาเป็นปีๆ เลยด้วยซ้ำ

“7-8 ปี ที่รู้จักกันมา เราคุยกันทุกเรื่อง เห็นปัญหาคล้ายๆกัน ตอนแรกเรายังไม่รู้วิธีแก้ และยังไม่มีโอกาสได้แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ต้องค่อยๆ ระดมความคิด ต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ จนมันคลิกขึ้นมา เราอยากสร้างกลไกที่ตรวจสอบ AI ที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพราะตอนนี้ ผู้ใช้งานทั่วไป ไม่มีวิธีตรวจสอบเลย ถ้าเค้าเขียนโค้ดไม่เป็น อ่านโค้ดไม่ออก เค้าจะตรวจสอบได้อย่างไร แม้กระทั่งตัวเราเองที่ทำงานด้าน AI ก็เคยพลาดเหมือนกัน เราต้องมาถามตัวเองว่า มันจะมีวิธีไหนไหม ให้เราเชื่อใจที่มาที่ไปของ AI ได้ หรือจะทำให้เราเชื่อถือคนพัฒนา AI ได้ 

เราเจอปัญหา AI จนเราก็เคย Burnout ไปเหมือนกัน ช่วงนั้นก็ลองทำ Blockchain แก้อาการ Burnout แถมได้ความรู้อีกศาสตร์มาเพิ่ม บวกกับดร.เอก พูดมาคำเดียวว่า CyberSecurity เราก็เชื่อเค้าเลย เพราะเราเชื่อว่าเค้าวิเคราะห์มาแล้ว พอเอา 3 อย่างนี้มารวมกัน กลายเป็นว่า มันตอบโจทย์ได้ครบเลย 

นี่ก็เป็นบทเรียนให้เราเหมือนกันว่า การลงลึกในเส้นทางเดียว ไม่ได้ให้คำตอบได้เสมอไป การลองทำอะไรใหม่ๆ Zoom out ออกจากมุมมองเดิม อาจทำให้ได้แรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่สำคัญคือต้องอยู่บรรทัดฐานของความเป็นจริง มีกระบวนการวิจัยมารองรับ ถึงจะเกิด Wisdom ที่แท้จริงได้ 

นี่คือจุดกำเนิดของ CiferAI จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดจากการรวมหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน”  รันเล่า

การใช้เวลาเป็นปีๆ ที่ทั้งสองศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงการแลกเปลี่ยนทรรศนะ ความคิดเห็น สำรวจตรวจสอบความเป็นไปได้ และทุกๆ ความเติมเต็มในบทสนทนา จึงทำให้รันและดร.เอกตัดสินใจลงเรือลำเดียวกัน 

เพราะทั้งคู่มีเป้าหมายเดียวกัน

“สิ่งที่ทำให้คลิกกัน น่าจะเป็นเรื่องของเป้าหมาย เรามีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำยังไงให้คนสามารถเชื่อใจ AI ได้มากขึ้น และที่มันจะดีสำหรับทั้งสองฝ่ายก็คือ งานวิจัยเอง ผมมองว่าในพื้นที่นี้ยังมีงานวิจัยหรือปัญหาหลายๆ อย่างที่ต้องแก้ไขเยอะ แล้วเราจะแก้ไขปัญหาพวกนี้ไม่ได้เลยถ้าเราไม่ได้เอาโมเดลหรือ AI ไปใช้ในชีวิตจริง คือแค่เราตีพิมพ์งานวิจัย มันแก้ปัญหาพวกนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่มีสตาร์ทอัพขึ้นมาก็ถือว่าเป็น Sandbox อันนึงที่เราสามารถเอา Solution ที่เรามีไปทดสอบได้ ถ้าในทางกลับกัน ในส่วนมุมของ startup เองเขาก็ต้องการงานวิจัยเพื่อมา Support Solution ที่จะต้องใช้ แล้วมันก็ win-win สำหรับทั้งสองฝ่าย” ดร.เอกบอก

2
AI 101

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องเล่าแห่งแพสชั่นของปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างลึกซึ้ง เราจีงชวนรันและดร.เอกขยายความฉากทัศน์ของโลก AI และความเกี่ยวเนื่องของงานวิจัยให้เราฟังก่อนด้วยคำถามที่เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้คนทั้งโลกถกเถียงกันในเรื่อง AI คือ

“AI จะเปลี่ยนโลกได้จริงเหรอ”

“ผมว่ามันจะเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น แต่ต้องทำให้คนยอมรับและเชื่อใจมัน” ดร.เอกตอบเรา

“เห็นด้วยค่ะ และขอเสริมอีกเรื่องว่า เราต้องหา จุดสมดุลของความเชื่อใจด้วย เพราะในทางกลับกัน ถ้าเราเชื่อใจมันโดยไม่ตั้งคำถามอะไรมันเลย มันอาจจะทำให้เราเคยชินกับการทีไม่ต้องวิเคราะห์ จนเราขาดสกิลนี้ไปโดยไม่รู้ตัว” รันเสริม

ทั้งสองคนสรุปเหมือนกันว่า ใช่อยู่แล้วที่ AI มันทำอะไรได้หลายอย่างมาก แต่ปัญหาคือ ความเชื่อใจที่มนุษย์จะมอบให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ ต่อให้วันนี้เราจะใช้ AI จนเปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน มนุษย์กันเองจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นที่น่าเชื่อถือพอ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายได้ เหมือนที่เราเชื่อมั่นในเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ถูกขนานนามว่า “นวัตกรรม” เช่น อินเตอร์เนท, สมาร์ทโฟน เป็นต้น

“มีปัญหาหลักในเชิงของงานวิจัยด้วยว่า เราจะสร้าง AI ที่คนเชื่อใจ ที่มันมีเสถียรภาพที่ดีพอจะถูกเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ไหม ถ้าสมมุติเราเอาเทคโนโลยี AI ไปใช้ในสายงานเกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพ มันก็เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่เราจะเอาเทคโนโลยีตัวนี้ไปใช้ได้ในสายวิชาชีพนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ว่ามันทำงานได้ดีมากน้อยแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับว่ามันทำงานออกมา การทำงาน กระบวนการทำงานมันโปร่งใสแค่ไหน สามารถอธิบายได้ไหม แล้วก็มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนด้วย” ดร.เอกขยายความ

“สมมติ LLM มันทำงานผิดพลาด มันให้ข้อมูลแปลกๆ สร้างสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง สร้างรูปตลกๆ เราก็คงขำไปกับมัน  ความเสียหายมันไม่ได้กระทบถึงชีวิตและทรัพย์สิน แต่ถ้ามันสร้าง Fake News ก่อให้เกิดความสับสนและขัดแย้ง มันก็เกิดผลกระทบมากขึ้น ยิ่งเป็น AI ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เช่นรถไร้คนขับ ที่มีคนไปนั่งอยู่จริงๆ ทุกวันนี้เชื่อใจได้หรือยัง”

“ดังนััน เรื่องที่ AI เปลี่ยนโลกไปแล้ว ก็คงเป็นเรื่องการเข้าสู่กลุ่มใช้งานจำนวนมาก แต่ตัว AI เอง ยังไม่เปลี่ยนเลย นั่นก็คือวิธีการตรวจสอบ ที่มาที่ไป เรื่องความโปร่งใส เรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องพวกนี้ยังไม่เปลี่ยนเลย แถมยังหนักขึ้นทุกวันๆ ข่าวฟ้องร้องขึ้นศาลก็มีให้เห็นอยู่ตลอด  และถ้าไม่มีใครไปแก้มัน ก็คงจะเป็นปัญหาอยู่ไปอีกนาน” รันเสริม

3
Ethical AI

มันเลยกลายเป็นเรื่องของจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ethical AI

ไม่ว่าจะในภาษาไทยหรืออังกฤษ มันคือการสมาสคำระหว่าง “จริยธรรม” และ “ปัญญาประดิษฐ์” เข้าด้วยกัน

แต่จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่?

ดร.เอก อธิบายให้เราเข้าใจง่ายๆ ว่า จากการที่นักพัฒนา AI คำนึงถึงประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำนายค่าของโมเดล AI จะเรียนรู้ทุกอย่างที่ทั้ง “ดี” และ “ไม่ดี” เพราะมันเรียนรู้ทั้งจากกลุ่มข้อมูลที่มาจากคน อาจทำให้ผลการทำนายออกมาเป็นลบ และนำไปสู่การเหยียด หรือละเมิดสิทธิได้ เช่น การเลือกปฏิบัติด้วยสีผิว, เหตุแห่งเพศ, เชื้อชาติ, ศาสนา เป็นต้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์คือ การทำให้ข้อมูลทั้งหมดทำงานได้อย่างเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม ที่มีปัจจัยและพื้นที่ๆ ต่างกัน

รันขยายความว่า คำว่า “จริยธรรม” แค่ตัวมันคำเดียว ยังไม่ต้องไปเกี่ยวกับ AI มันก็มีความ Subjective ในตัวอยู่แล้ว ยิ่งการตีความในแต่ละวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ยิ่งทำให้ซับซ้อน แต่ ณ วันนี้ เรามีคำจำกัดความที่ชัดเจนมาแล้วจากหน่วยงานหลายๆ แห่ง เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ “บังคับ” ให้ใช้ AI อย่างมีจริยธรรม เกิดผลประโยชน์เชิงบวกที่สร้างสรรค์ต่อสังคมและประชาชน ไม่เกิดการละเมิด หรือประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปหรือ EU ก็ออกมาเป็นข้อกฎหมายเลย ว่า ห้ามนำข้อมูลประชากร EU ไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น 

และที่สำคัญที่สุด สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือ ความปลอดภัยของข้อมูล

“เพราะว่ามันเคยมีกระแสว่า Data is a new Oil. (ข้อมูลคือบ่อน้ำมันใหม่) ที่ผ่านมา บริษัทใหญ่สามารถนำข้อมูลลูกค้าไปขายต่อ เพื่อสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจได้ จนกระทั่งหลายประเทศออกกฎหมายใหม่ มาว่าไม่อนุญาตให้ทำได้อีกต่อไป เพื่อปกป้องความปลอดภัยของข้อมูล แล้ววงการพัฒนา AI ล่ะ ทีนี้จะเอาเดต้าจากไหนมาเทรน ทีนี้ก็ต้องมาหาวิธีที่ พัฒนา AI ได้ และต้องปลอดภัยด้วย มันเลยเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นไปอีก”

“การพัฒนาเทคโนโลยีมันมีต้นทุนอยู่แล้ว การพัฒนา AI ก็มีต้นทุน การเก็บข้อมูลแบบไม่ละเมิดยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น การลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดก็เป็นสิ่งที่บริษัทอยากทำ หลายๆ บริษัทก็ละเลยที่จะไปลงทุนในเรื่องเหล่านี้ แต่ถ้ามันถูกบังคับด้วยกฎหมายที่ทุกคนต้องทำตาม และมี Solution ที่บริษัทไม่ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เราก็จะได้ AI ที่มีประสิทธิภาพ และตรงตามข้อกฎหมายและจริยธรรมอีกด้วย”

“ถัดมาก็คือเรื่องเกี่ยวกับความโปร่งใส ระหว่างผู้พัฒนา AI และคนที่เป็นเจ้าของข้อมูล อย่างที่บอกว่าถ้าเจ้าของข้อมูลถูกขโมยข้อมูลไป แล้วบริษัทฯ เอาไปขายต่อแล้วก็รวยมหาศาล ถามว่าเราได้อะไร เราไม่เคยได้อะไรสักบาทเดียว”

“เราก็เลยพัฒนากลไกที่ว่า หากบริษัทต้องการพัฒนา AI โดยใช้ชุดข้อมูลของผู้ใช้งาน ก็ส่ง AI Model ขึ้นมาเทรนที่เครื่องของผู้ใช้งานโดยตรงได้เลย แทนที่จะโหลดข้อมูลของผู้ใช้งานไปเก็บที่เซิฟเวอร์ตัวเอง ทำให้เจ้าของข้อมูลไม่ต้องเสี่ยงเอาข้อมูลออกจากเครื่องของตัวเอง ข้อมูลมันก็อยู่บนเครื่องเหมือนเดิม พอเทรนเสร็จ AI ก็ Aggregate ตัวเองให้ฉลาดขึ้น และเกิดการจ่ายผลตอบแทนให้เจ้าของข้อมูลและเจ้าของ AI Model ทั้งหมดนี้คือกลไกของ CiferAI ประกอบด้วย การเทรนแบบ Decentralized Federated Learning และ CiferAI Reward System ค่ะ” 

4
ABC

“CiferAI เกิดจากการรวม AI, Blockchain และ CyberSecurity เข้าด้วยกัน

“AI Framework ทำให้เกิดการเทรน Machine Learning ที่มีประสิทธิภาพและปกป้องข้อมูล, Blockchain ช่วยเรื่องความโปร่งใส ในการเทรนข้อมูล มีการเก็บบันทึกและเข้ารหัส ป้องกันการปลอมแปลง และจ่ายผลตอบแทนได้ สุดท้าย CyberSecurity ทำให้เกิดความปลอดภัยในทุกขั้นตอน เมื่อเรารวม 3 อย่างนี้เข้าด้วยกัน การเทรน AI ก็จะเกิดจริยธรรมและเป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน

แต่ปัญหาคือ เราไม่สามารถนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ตอนนี้มารวมกันเฉยๆ ได้ เนื่องจาก Blockchain ที่มีอยู่ในตอนนี้ ถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์ทางการเงินเป็นหลัก เช่น ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ และยังไม่มีเทคโนโลยีไหนที่สร้างมารองรับความซับซ้อนของข้อมูลเพื่อพัฒนา Machine Learning เลย นั่นหมายความว่าเราต้องเขียนโค้ดใหม่เพื่อสร้าง Blockchain กลไกใหม่เพื่อใช้พัฒนา Machine Learning โดยเฉพาะ” รันกล่าว

ดร.เอกเล่าให้ฟังเพิ่มว่า ความท้าทายของ CiferAI คือการพัฒนาให้ 2 กลไกระหว่าง AI และ Blockchain ทำงานร่วมกัน พัฒนาและต่อยอด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างจากการพัฒนา AI ทั่วไปเป็นอย่างมาก

“จุดที่ต่างกันระหว่างการทำงานวิจัยกับสตาร์ทอัพคือ ส่วนใหญ่การทำวิจัยเราจะเน้นที่การหาทางออก แต่การทำสตาร์ทอัพบางทีเราก็ต้องมองในเรื่องประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ที่บางทีเราไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไรที่มันซับซ้อน เราอาจจะใช้วิธีการที่มันง่ายกว่า และได้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานที่มันดีกว่า ผมมองว่าจุดนั้นก็เป็นความท้าทายที่ทางทีมวิจัยจะต้องค้นหาคำตอบ”

ส่วนความโหดที่รันแบ่งปันให้เราฟังคือ โจทย์นี้มันล้ำมาก และต้องผนวกเทคโนโลยีที่หลากหลายมารวมกันเป็นเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง

“เรื่องนี้คือโหดมากถ้าเทียบกับตัวอื่นที่เคยทำมา ก่อนหน้านี้มีแค่โจทย์เดียว และใช้เทคโนโลยีแค่อย่างเดียว แต่พอมาเป็นเรื่องที่มันล้ำมาก และไม่มีใครแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อน เราต้องคอยมาแตกทีละหมวดหมู่ มันมีแต่ละกล่องของมัน และเรารู้ว่าถ้าถอดออกไป 1 กล่อง ภาพของ Ethical AI หรือ High Performance AI มันก็ไม่สมบูรณ์แล้ว มันก็แก้ไม่ได้ มันกลายเป็นว่าเรื่องนี้ต้องใช้ Deep Technology ของหลายๆ โดเมนมารวมกัน เราจะเรียกว่าใช้ ABC คือ AI, Blockchain และ CyberSecurity เพื่อมาใช้แก้ปัญหาทั้งหมด” 

5
From Bangkok to the US

การเดินทางของ CiferAI ตั้งต้นที่ไทยก็จริง แต่โปรเจคต์นี้ไม่ได้ดำเนินต่อที่ไทย

รันให้เหตุผลง่ายๆ เลยว่า ประเทศไทยไม่ใช่ผู้นำด้านเทคโนโลยี และมีคนเข้าใจสิ่งที่ทั้งรันและดร.เอกทำอยู่น้อยมากๆ นั่นคือเหตุที่ทำให้รันตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

“CiferAI สร้างมาเพื่อบริษัทพัฒนา AI และบริษัทที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นผู้ใช้งานหลัก (B2B) ซึ่งมีจำนวนน้อยมากในเมืองไทย เราอยากนำ Solution ของเราไปสู่ตลาดที่ใหญ่กว่านี้ พร้อมใช้งานกว่านี้ ดังนั้น อเมริกานี่แหละ คือเป้าหมาย และนิวยอร์กก็เป็นเมืองแห่งโอกาส เต็มไปด้วยแหล่งเงินทุน และเทคโนโลยี อีกทั้งเดินทางไปเยอรมัน เพื่อร่วมงานกับทีมวิจัยได้สะดวกด้วย ซึ่งถ้าหากเลือกที่จะกลับไปอยู่ซานฟรานซิสโก ก็จะเดินทางไปเยอรมันไม่สะดวกเท่ากับอยู่ที่นิวยอร์ก”

หลังจากปักหลักและเฟ้นหาเพื่อนร่วมทาง จนได้ทีมงานที่จะทำงานด้วยกันต่อแล้ว เราเลยลองให้ทั้งรันและดร.เอกช่วยกันเล่าว่าจริงๆ แล้วในทีมของ CiferAI ทำอะไรกันบ้างในแต่ละวัน

ผู้ก่อตั้ง CiferAI มี 4 คน เป็นคนที่เคยร่วมงานด้วยกันมาก่อน ซึ่งรันในฐานะแม่ทัพ ก็ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ดีลกับคู่ค้าและนักลงทุน ขายของ และอื่นๆ รวมไปถึงคิดโจทย์งานวิจัยกับดร.เอก ที่อยู่ต่าง Timezone กัน 6 ชั่วโมง อีกทั้ง ยังต้องเขียนโค้ด แก้บั๊ค พัฒนาเทคโนโลยี กับ CTO และ CPO ที่เมืองไทย ที่ต่าง Timezone กัน 12 ชั่วโมงอีก ทุกสัปดาห์จะเริ่มจากการ Conference Call ว่าแต่ละคนมีภาระงานอะไรที่ต้องจัดการบ้างสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่ยกเว้นฝ่าย Developer ที่ต้องคุยกันทุกวัน รวมถึงงานด้าน Business ด้วย 

“สำหรับเรา CEO ไม่ใช่ Chief Executive Officer แต่เป็น Chief Everything Officer 

ต้องเอาตัวเองไปประกบกับทุกทีมให้ได้ ทำยังไงก็ได้ ให้ทีมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ปัญหาของทีม คือปัญหาของเรา ไม่ได้ปล่อยให้ใครแก้ปัญหาของเค้าเอง เพราะเราไม่ได้มองตัวเองเป็น Leader อย่างเดียว แต่ต้องเป็น Manpower ได้ด้วย นี่คือ Spirit ของทีมเราค่ะ” รันบอกเรา

6
เรื่องนี้เราไม่ได้คิดกันแค่สี่คนแล้ว

การลงแรง ลงใจทำอะไรสักอย่าง ต้องวัดจากเสียงตอบรับหรือผลลัพธ์กันเป็นหลัก เพื่อจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำพอใช้ได้ หรือต้องแก้ไขอะไรบ้าง 

สนามสำคัญที่ทำให้ CiferAI ได้เห็นถึงความเป็นไปได้และได้รับการโอบรับจากคนในวงการเดียวกันคือ การไปร่วมงาน AI Summit New York และ Neural Information Processing Systems ที่สหรัฐอเมริกา อีเวนต์นั้นมี “ตัวจริง” จากวงการ AI ทั้งนักพัฒนา นักวิจัย สตาร์ทอัพ และนักลงทุนเป็นจำนวนมาก

“คือถ้าระเบิดลงวันนั้น โลกน่าจะไม่พัฒนา AI ไปอีก 10 ปีเพราะทุกคนอยู่ตรงนั้นหมด” รันพูดแซวแกมหัวเราะ

“ในงานนั้น แค่แนะนำตัวว่า เราทำ Decentralized Federated Learning บน Blockchain ทุกคนว้าวกันหมด ซึ่งเขาไม่ต้องถามเราแล้วว่าคืออะไร เขาเข้าใจเลย เพราะถึงแม้ยังไม่มีสตาร์ทอัพด้านนี้เกิดขึ้นมาก่อน แต่ในฝั่งของงานวิจัย เทคโนโลยีนี้เป็นที่แพร่หลายและยอมรับอยู่แล้ว จึงเกิดบทสนทนา ต่อยอดความคิดได้อีกไกล  เราเลยกระจ่างว่า ตรงไหนคือที่ของเราอย่างแท้จริง” 

“เราก็ตกใจเหมือนกันที่ว่ามีอยู่กลุ่มนึงที่เราเดินเข้าไปจะไปแนะนำตัว เขาเห็นป้ายชื่อเราแล้วเขาก็บอกเลยว่า ฉันรู้จักคุณนะ ฉันเพิ่งอ่านบทความ อ่านเว็บไซต์ของคุณมา เราก็ซึ้งเลยว่า เราจะโตได้เร็วมาก ถ้าเราอยู่ถูกที่ ถูกเวลา เพราะไม่ต้องเสียเวลา Educate ตลาดใหม่” รันบอกเรา

ดร.เอกแบ่งปันเพิ่มอีกว่า การได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่คลุกคลีในสายงานนี้โดยตรง ทำให้ได้โอกาสในการสำรวจตลาดไปในตัวด้วย เพราะก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่า มีทั้งคนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจในสิ่งที่ CiferAI ทำ ในความหมายคือ จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์เป็นเรื่องที่ดี และคนในวงการด้วยกันเองเข้าใจและอยากให้มันเกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังสงสัยในวิธีการ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ดร.เอกอยากชักชวนปราชญ์ในวงการปัญญาประดิษฐ์มาร่วมกันทำให้ “ปัญหาที่ไม่น่าแก้ไขได้” ให้แก้ไขได้

ซึ่งตอนนี้ นอกจากที​่ CiferAI ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในวงการปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก ยังคว้าโอกาสสำคัญในการร่วมงานกับบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Google 

“Google เป็นที่แรกของโลก ที่พัฒนาการเทรน AI แบบไม่เห็นข้อมูล ที่เรียกว่า Federated Learning แต่เทคโนโลยีดั้งเดิมของ Google นั้น ก็ยังมีจุดอ่อน ด้านการรวมศูนย์ ความปลอดภัย และอุปสรรคด้านการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ วันนั้นเราเดินไปคุยกับ Google และบอกว่า เราได้รับแรง บันดาลใจจากงานของ Google และเราเอามาพัฒนาต่อยอด ปิดจุดอ่อนทั้งหมดของเค้าแล้ว หลังจากนั้น เราก็ได้รับ Grant Fund จาก Google ในการพัฒนาเทคโนโลยีของเราบน Google Cloud AI และโอกาสอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย”

นั่นแปลว่า CiferAI  ไม่ใช่เรื่องที่คิดกันเองแค่ 4 คนอีกต่อไปแล้ว

7
Last Venture

ทุกอย่างมีการเดิมพัน และมีราคาที่ต้องจ่าย และไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับ CiferAI

เราแค่อยากรู้ว่า ตอนนี้รันและดร.เอกกำลังเดิมพันกับอะไร

“มันเดิมพันสูง เพราะว่ามันเดิมพันในเรื่องที่ว่าสุดท้ายแล้วรูปร่างหน้าตา และ Impact ของเทคโนโลยี AI ที่มีต่อสังคมมันจะออกมารูปร่างหน้าตายังไง เพราะถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้ สุดท้ายแล้วเราจะมี AI ที่ละเมิดผู้คนและสังคม ไม่โปร่งใส ตัวเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงถูกใช้ในทางที่ผิด อีกเรื่องนึงก็คือในเรื่องของการเข้าถึง สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีที่มันมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ มันควรจะอยู่ในมือของคนหรือสังคม ไม่ใช่เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือบริษัทที่มีเงินมาก หรือมีข้อมูลเยอะ เทคโนโลยีตัวนี้มันควรจะทำให้ถูกเข้าถึงได้ง่ายซึ่งถ้าเราไม่โฟกัสตรงนี้ เราไม่เริ่มทำตรงนี้ สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีตัวนี้จะอยู่ในมือคนแค่ไม่กี่กลุ่ม” ดร.เอกตอบเรา

“ทำไมคน 4 คนถึงยอมที่จะเสียเวลา เสียสละชีวิตส่วนตัว เพื่อมาทำอะไรด้วยกัน ทั้งๆ ที่ชีวิตก็ดีอยู่แล้ว คือเราต่อรองกับสิ่งที่เรามีและสิ่งที่คนอื่นๆ มี มันยิ่งทำให้เกมนี้ไม่มีคำว่าล้มหรือแพ้เลย สมมติเราทำคนเดียว วันหนึ่งเราไม่อยากทำมันแล้ว เราก็คงเลิกได้ เพราะเราไม่ได้ถูกบังคับด้วยความดิ้นรนให้เราต้องทำต่อ แต่อันนี้มันกลายเป็นว่า มันไม่ใช่ของเราคนเดียวแล้ว มันเป็นของคนอื่นๆ ยิ่งวันนี้มีชื่อ Google ติดมาด้วย เพราะว่ามันเป็น Impact ที่ใหญ่มากของสังคม ถ้าไม่มีกลไกที่พิสูจน์ว่า AI น่าเชื่อถือ หรือพิสูจน์ได้ว่า คนสร้าง AI ไม่ได้โกงใครมา แล้วเราจะเชื่อถือเทคโนโลยีนี้ได้อย่างไร ที่ผ่านมา หลายคนก็เคยเจอ เทรดหุ้นก็เจ๊ง เอาไปใช้จริงแล้วก็พลาด ข้อมูลที่ได้มาก็ขโมย คือเรื่องพวกนี้เราเจอกันจนเหนื่อย เราไม่อยากเห็นใครเจอเรื่องพวกนี้อีกแล้ว นี่คือเรื่องที่เราต่อรองกันอยู่ทั้งเรื่องของทีมที่มาร่วมงานกัน และก็เรื่องของ Impact ที่มันใหญ่มากๆ ด้วย” รันเสริม

ซึ่งด้วยการเดิมพัน ความพยายาม และการทุ่มเททุกสรรพกำลังที่มีของทีม CiferAI สำหรับรันแล้ว แค่พาตัวเองมาอยู่ในสเตจใหญ่ระดับโลก มันก็เกินฝันที่เธอทัดทานไว้มาแล้ว และมันใช้เวลาเร็วกว่าที่เธอคิดไว้อีกด้วย

“พอเรามาทำออฟฟิศอยู่ที่นี่ด้วย แล้วก็ ดร.เอก ที่อยู่ที่เยอรมันด้วย ทำให้ตลาดเรากว้างขึ้น เราก็เลยมาถึงจุดนี้ได้เร็วมาก ตอนแรกที่อยู่เมืองไทยเราอาจจะมองภาพไม่ค่อยเห็น เพราะตลาดมันเล็ก เมื่อนักพัฒนาในเมืองไทยยังมีน้อย คนเห็นด้วยหรือคนได้ประโยชน์จากเรามันก็มีน้อยไปด้วย 

แต่พอเรามาอยู่ที่นี่ ถ้าเราเริ่มกับลูกค้าแค่ 2-3 บริษัท แต่เค้ามีผู้ใช้งานหลักแสน เราก็จะสร้างประโยชน์ไปถึงคนหลักล้านได้เร็วมาก นั่นคือเรื่องที่เราคิดว่ามันมีความหมายกับเรามากกว่า”

ส่วนดร.เอกมองเห็นปลายทางคือ  “ความหมาย” ในการทำ CiferAI จนสำเร็จคือ การสร้างงานวิจัยที่มีอิทธิพลต่อสังคม เพื่อส่งต่อให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ดี ปลอดภัย และสะอาดยิ่งขึ้น รวมถึงการท้าทายศักยภาพของตัวเองให้ CiferAI ไปถึงเป้าหมายได้

“เราจะได้เห็นงานวิจัยที่สร้างอิมแพคต่อสังคมจริงๆ มากกว่าแค่การตีพิมพ์ ตรงนั้นน่าจะเป็นจุดที่ผมรู้สึกว่า เราทำสำเร็จ และได้ท้าทายตัวเอง เราไม่ได้อยู่ใน Comfort Zone ที่ทำงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์เท่านั้น แต่ว่าโลกนี้มันมีปัญหาจริงๆ ที่เราสามารถแก้ได้ เพราะฉะนั้นการร่วมสร้าง CiferAI ขึ้นมานั้น มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมได้จริงๆ”


About Storytellers

Drive your Passion