Artist in Residency หรือศิลปินในพำนักคือ การเปิดพื้นที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในศิลปินในหลากหลายแขนงได้รวมตัวกันสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบที่ตัวเองถนัดและเชื่อมั่น โดยส่วนมากมักอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีศิลปินหลากหลายแขนงจากหลากหลายที่มาเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมากใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ซึ่งอาจมีหรือไม่มีกิจกรรมอะไรร่วมกันก็ได้

แต่ปลายทางคือ ทุกคนจะได้ใช้เวลา ได้รับประสบการณ์ใหม่จากการพำนัก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคิดภายใน หรือการสร้างสรรค์ที่นำเสนอออกมาภายนอก กระทั่งว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ แนวคิด หรือผลงานก็ได้

ซึ่งการสร้างโครงการศิลปินในพำนักไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการศิลปะไทย อีกทั้งมีศิลปะหลายแขนงมากๆ ที่ใช้โมเดลนี้ในการเปิดพื้นที่ เปิดไอเดีย เปิดแรงบันดาลใจในการเชื้อเชิญผู้คนหลากหลายมาสร้างคอมมูนิตี้ของคนทำงานศิลปะเพื่อเปิดความเป็นตัวเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้

เราจึงขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Studio 88 Artist Residency ที่ตั้งอยู่ในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่นี่เปิดรับศิลปินตลอดทั้งปีในธีมที่ต่างกันทุกไตรมาส อย่างเช่น  Reviving Nature ที่ว่าด้วยการเชื่อมต่อธรรมชาติ และการสะท้อนภาพปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ในช่วงต้นปี และอย่างล่าสุดกับ Gender Fluid ซึ่งยึดโยงกับ “ความลื่นไหลทางเพศ” ที่เพิ่งนำเสนอเปิดฤดูกาล Pride Month ไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

ด้วยความบังเอิญราวกับจักรวาลจัดสรร ทำให้เราได้รู้จักกับพี่อ้อม-ศศิวิมล วงศ์จรินทร์ Art Manager ผู้ดูแลภาพรวมทั้งหมดของหมู่บ้านศิลปินแห่งนี้ ที่ให้โอกาสพิเศษในการมาเยี่ยมหมู่บ้านศิลปิน เพื่อสอดส่องเรื่องหลังบ้าน การทำงานร่วกับศิลปินจากทั่วทุกมุมโลก เรื่องราวการสร้างและตีความงานศิลปะในพื้นที่ใหม่ๆ ของศิลปิน และสิ่งที่ผู้จัดการศิลปินเรียนรู้จากการเปิดหมู่บ้านต้อนรับผู้คนเหล่านี้

แต่นอกจากเรื่องราวของหมู่บ้านศิลปิน ตัวตน ประสบการณ์ และวิธีคิดในการทำหมู่บ้านศิลปะของพี่อ้อมก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ เช่นกัน เพราะถ้าไม่ใช่คนที่คลุกคลีกับวงการศิลปะทั้งไทยและต่างประเทศเป็นปีๆ จะไม่มีทางเข้าใจในฉากทัศน์ศิลปะจนสามารถเปลี่ยนเกสต์เฮาส์ของครอบครัวให้กลายเป็นหมู่บ้านศิลปินเล็กๆ ได้แน่นอน

ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ศิลปะอะไรในการฟังเรื่องราวนี้ 

และขอยินดีต้อนรับคุณเข้าสู่หมู่บ้านศิลปิน โดย (ผู้จัดการ) ศิลปิน เพื่อศิลปิน

01
เส้นทางศิลปิน ของศิลปินที่โตมาในครอบครัวศิลปิน

เส้นทางในวงการศิลปะของพี่อ้อมเริ่มตั้งแต่เกือบ 20 ปีที่แล้ว โลกทัศน์ของเธอถูกเปิดผ่านการสานสัมพันธ์กับครอบครัวหนึ่งจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ไปมาหาสู่กันทุกๆ ปี

เมืองที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ การออกแบบ ที่มีแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์รายล้อมอย่างอัมสเตอร์ดัม เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้พี่อ้อม “อยากใช้ชีวิต” จนเธอเลือกใช้ชีวิตด้วยการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาครุศาสตร์บัณฑิตสาขาวิจิตรศิลป์ และปริญญาโทสาขาพิพิธภัณฑ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปะจากเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

“เราก็เลยคิดว่าต้องทำยังไงถึงจะได้ใช้ชีวิตต่ออีก พอหลังจากนั้นกลับมาหนึ่งปีก็เลยคุยกับทางบ้านทั้งที่เมืองไทยแล้วก็เนเธอร์แลนด์ว่าอยากจะเปลี่ยนเส้นทางว่า เราอยากจะเรียนอะไรทางด้านศิลปะ เราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะต้องทำอะไร แล้วก็บังเอิญไปเจอคอร์สชื่อ Teacher training for Fine Arts ก็คือวิจิตรศิลป์นั่นแหละ แต่ว่ามันอาจจะออกมาทางสายครุศาสตร์ พี่ก็เลยเข้าไปเรียนจบเข้าปีที่สองก็คุยกันว่า ถ้าจบมาแล้วฉันต้องมาเป็นคุณครู แล้วฉันต้องมาทำงานเซรามิคเหรอ รายได้มันน้อยจังเลย ทำแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร ก็เลยไม่แน่ใจ” พี่อ้อมเล่าถึงเส้นทางการตัดสินใจ

ด้วยทางแยกที่ชวนสับสนและเริ่มสั่นคลอนเป้าหมายในใจ พี่อ้อมมีโอกาสได้พบกับอาจารย์อุทิศ อติมานะ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในขณะนั้น 

พี่อ้อมบอกอาจารย์ว่า เธออยากเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในหอศิลป์ฯ 

ซึ่งอาจารย์อุทิศบอกแค่ว่า ถ้าอยากมาจะลองให้ทำงานก็ได้ แต่ว่าต้องจบภายใน 2 ปี

ตอนนั้นพี่อ้อมก็ได้แต่คิดว่า งานเข้าแล้ว

“ตอนนั้นก็คิดแค่ว่า เราจะทำยังไงดี เราก็จะไปหาคอร์สเรียน แล้วก็ไปเจอคอร์สปริญญาโทที่เขาสอนเรื่องการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ พอดีเขาแบ่งคอร์สให้เป็นการเรียนแบบ Part-Time ได้ เราก็เลยขอเขาเรียนเพื่อจะได้รีบกลับมาทำงานที่หอศิลป์มชภายใน 2 ปี เรากลับมาเขาก็ให้โอกาสเราทำงาน เราก็ทำงานไปด้วยแล้วก็กลับมาเขียนธีสิสที่บ้าน ที่เชียงใหม่ แล้วช่วงนั้นที่เขียนธีสิสอยู่แล้วก็ทำงานไปด้วย”ช่วงเวลานั้นพี่อ้อมได้ร่วมงานกับศิลปินร่วมสมัยหลายท่าน ผ่านการร่วมจัดนิทรรศการ Retrospective ของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และคามิน เลิศชัยประเสริฐ โดยมีกฤติยา กาวีวงศ์ เป็น Curator ของนิทรรศการซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี จนทั้งสองเอ่ยปากชักชวนให้พี่อ้อมไปทำงานล่วงเวลาที่มูลนิธิที่นา หรือ The Land Foundation ก่อนจะกลายเป็นผู้จัดการมูลนิธิในเวลาต่อมา

02
ท่องโลกศิลปะจากการทำงาน

พันธกิจของมูลนิธิที่นามีอยู่สามอย่าง ประกอบด้วย การเกษตรกรรมธรรมชาติ การเรียนรู้ตัวเองด้วยหลักวิปัสนา และการทำศิลปะร่วมสมัย ซึ่งส่วนหลังนี้พี่อ้อมได้ดูแลโครงการหมู่บ้านศิลปิน ที่มีทั้งศิลปินไทยและต่างชาติประมาณ 10-12 คน ซึ่งช่วยประกอบสร้างให้พี่อ้อมเห็นภาพรวมในการำงานศิลปะที่กว้างและชัดเจนมากขึ้น

“ตอนนั้นเราชอบงาน แล้วก็เหมือนกับว่าเราชอบความคิดสร้างสรรค์ของเขา การมองอะไรที่ต่างออกไปจากกรอบเดิมๆ เป็นแรงบันดาลใจค่อนข้างเยอะ ให้มุมมองแนวคิดที่ต่างจากที่เราเคยใช้ชีวิตในกล่อง เช่นช่วงที่เขามีประเด็นทางสังคม ก็เชิญอาจารย์-นักศึกษา มานั่งคุย นั่งเสวนากัน บรรยากาศมันจะคล้ายๆ กับที่อัมสเตอร์ดัมตรงที่พอเราอยากจะรู้อะไรเขาก็จะจัดเสวนากันค่อนข้างเยอะเป็นเรื่องปกติ ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะนักเรียนหรือไม่ คุณก็ไปฟังได้ พื้นที่ของมูลนิธิฯ เขาทำตรงนี้ มันก็เลยกลายเป็นอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็ปลุกฝันมาระยะหนึ่ง” พี่อ้อมเล่า

ระหว่างที่พี่อ้อมทำงานเต็มตัวอยู่ที่มูลนิธิที่นา พี่อ้อมมีโอกาสเข้าร่วมเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการจัดการศิลปะที่จัดโดย Asia-Europe Foundation การเวิร์กช็อปครั้งนั้นทำให้พี่อ้อมถูกชักชวนไปร่วมงานที่สิงคโปร์ จนพี่อ้อมกลายเป็นคนไทยคนเดียวในมูลนิธิเอเชียยุโรป โดยงานที่พี่อ้อมทำมีตั้งแต่การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในเครือข่าย การจัดประชุม และการให้ทุนกับศิลปินต่างๆ ก่อนจะกลับมาทำงานกับ British Council ประเทศไทยในตำแหน่ง Art Manager

“ประมาณ 7 ปีที่แล้วที่มีโครงการ Thailand 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ เราก็เลยได้รับผิดชอบโครงการหนึ่งชื่อ Crafting Futures ทำงานกับทางดีไซเนอร์ของสหราชอาณาจักร เพื่อยกระดับคนทำงานคราฟท์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วก็ช่วยรักษาวัฒนธรรม ประเพณี หรือว่างานคราฟท์ต่างๆ ที่เขามี ก็ทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง”

และจากการทำงานกับกลุ่มคน และพื้นที่-ที่หลากลหายมากขึ้น เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุมชนแออัด การทำงานประเด็นสังคมเรื่องการใช้ขยะพลาสติก การออกแบบการสอนภาษาอังกฤษที่สามารถสอนศิลปะให้กับเด็กเล็ก ประเด็นสิทธิเด็กและความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งเหล่านี้ทำให้พี่อ้อมได้เรียนรู้ประเด็นทางสังคมที่ขยายมากขึ้น และกลายเป็นแรงบันดาลใจอย่างดีสำหรับคนในวงการศิลปะตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญ

03
กลับบ้านมาเปิดบ้าน

วันหนึ่งมีเพื่อนศิลปินคนหนึ่งทักหาพี่อ้อมว่า อยากหาพื้นที่เล็กๆ ทำงานศิลปะของตัวเอง ซึ่งด้วยความที่บ้านพี่อ้อมมีธุรกิจเกสต์เฮาส์ในอำเภอดอยสะเก็ด พี่อ้อมจึงเปิดประตูบ้านต้อนรับศิลปินอยู่แล้ว จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม จนแวะเวียนกันมาเรื่อยๆ

ท้ายที่สุดพี่อ้อมก็ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนศิลปินด้วยกันเองว่า ทำไมไม่ทำเป็นกิจจะลักษณะเลยล่ะ

“พี่รู้สึกว่าพื้นที่เหล่านี้มันยังค่อนข้างน้อย และไม่มีโมเดลที่ตายตัว แล้วด้วยความที่เราเห็นมาหลายๆ โมเดลเราก็เลยอยากจะลองเปิดพื้นที่ทำ แล้วก็อยากจะรู้ว่า ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ที่เรามี เราจะเอามาปรับใช้ได้ยังไง แล้วพี่อยากจะเปิดให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถมาคิด มาฝัน มาทำอะไรก็ได้โดยที่เขาไม่ต้องกดดันตัวเอง” พี่อ้อมขยายความ

นอกจากการเห็นโอกาสในการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้มา “เป็นตัวของตัวเอง” แล้ว อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้พี่อ้อมเลือกทำหมู่บ้านศิลปินคือ การเชื่อมต่อระหว่างตัวพี่อ้อมเอง และศิลปะ

“มันอาจจะเป็นความชอบส่วนตัวด้วย พ่อกับแม่พี่เขาเรียนนาฏศิลป์มา เพราะฉะนั้นมันก็จะมีความรุ่มรวยทางศิลปะอยู่ในการใช้ชีวิตของเรามาตั้งแต่เด็ก แล้วพี่รู้สึกว่าศิลปะมันไม่ได้ไกลตัว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่เราใส่ ถนนที่เราเดิน จักรยานที่เราปั่น หรือว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่เราเห็น หรือการออกแบบนิทรรศการ พวกนี้มันผ่านกระบวนความคิดสร้างสรรค์มาอยู่แล้ว สำหรับพี่มันคือกระบวนการสร้างสรรค์ที่มีศิลปะ แล้วก็เอาความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียใหม่ๆ เข้ามาจับเพื่อให้เกิดอะไรดีๆ ขึ้น พี่ว่าการใช้ชีวิตทั่วไปมันก็คือสิ่งหนึ่งแล้วที่เราเชื่อมต่อในทุกๆ วัน

เดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 พี่อ้อมเปิดหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หมู่บ้านศิลปะแห่งนี้ไม่เคยหยุดรับแขกอีกเลย เพราะมีศิลปินที่เข้ามาพำนักที่นี่แล้วกว่า 40 คน ซึ่งนโยบายแรกของ Studio 88 Artist Residency คือ เราต้อนรับศิลปินทุกคนโดยไม่ได้แบ่งว่าคุณจะเป็นศิลปินอาชีพ ศิลปินฝึกหัด ทำงานศิลปะเป็นงานอดิเรกหรือนักวิจัย 

“เราไม่ได้กำหนดเงื่อนไขพวกนั้นเลย เราเปิดทั้งหมด แต่เวลาอ่าน Proposal เราจะรู้เลยว่าคนนี้เหมาะหรือไม่เหมาะกับพื้นที่ของเรา เช่น เขามาแล้วเขาจะได้อะไรจากตรงนี้ เพราะเราก็อยากจะสนับสนุน (ในแง่การทำงาน) ให้ได้มากที่สุด แล้วถ้าเขามาแล้วอยากจะเชื่อมต่อกับใคร เขาก็ต้องมอบอะไรให้กับคอมมูนิตี้ของเราด้วย ไม่ใช่ว่ามาเอาแต่ความรู้หรือ Connection เฉยๆ แล้วก็เราจะทำ Background Check เสมอ ว่าเขามีประสบการณ์ทำอะไร เราก็ดูช่วงเวลาด้วยว่าสนใจในช่วงเวลานี้หรือเปล่า”

04
Theme of Artists 

กลไกการคัดเลือกอีกหนึ่งประการที่ช่วยได้มาก เมื่อต้องต้อนรับศิลปินมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันคือ ธีม หรือหัวข้อในการคัดศิลปิน โดยหัวข้อของการคัดศิลปินในแต่ละครั้งมักมาจากความสนใจของพี่อ้อมเองคือ ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Art for Social Change) เพราะจากพื้นฐานที่พี่อ้อมทำงานด้านประเด็นสังคมไปพร้อมๆ กับการทำงานในโลกศิลปะ ซึ่งธีมแต่ละหัวข้อต้องยึดโยงกับบริบทในสังคมและชุมชนด้วย

“อย่างเช่นธีม Reviving Nature เราทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน แล้วก็ทำเรื่องมลพิษ มันก็ตรงกับที่เชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงที่สุดในโลกมาตั้งเท่าไหร่แล้ว และเราก็ทำงานด้านนี้มาตลอด เราก็เลยรู้สึกว่าอันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ เราก็เลยเข้าไปคุยกับองค์กรอื่นๆ ว่าถ้าเราทำประเด็นนี้ สนใจทำกับเราไหม เพราะมันเข้ากับพื้นที่ เข้ากับบริบทของเรา เข้ากับช่วงเวลาด้วย แล้วก็มันเกิดขึ้นจริง พี่ก็รู้สึกว่าศิลปะช่วยกระตุ้น ช่วยสะท้อน หรือสามารถให้มุมมองใหม่ๆ มันไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องที่เจ็บปวด หม่นหมอง หรือโศกเศร้าอย่างเดียว แต่สามารถนำเสนอมุมมองใหม่ๆ และบูรณาการอย่างสร้างสรรค์ได้

“แล้วพี่รู้สึกว่าพอเราได้มีโอกาสไปเห็นพื้นที่อื่น ประเทศอื่น สังคมอื่นเขาทำแล้วมันรู้สึกว่า มันก็ทำได้นะ ใช้เทคโนโลยีมาหรือใช้การศึกษาเข้ามาหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาทำ อย่างที่เราชวน มทร.ล้านนา ที่มีแลปวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยฝุ่นมาร่วมงานกัน (ห้องปฏิบัติการ RUEE Lab หน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ดอยสะเก็ด) เราก็อยากเห็นอย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ มันก็เกิดขึ้นแล้วเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราอยากจะเอาคนอื่นที่อยู่ในสายตาของบุคคลที่สามเข้ามามอง มาจากเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกัน” พี่อ้อมยกตัวอย่าง

หรืออย่างธีมล่าสุดที่เพิ่งปิดโครงการไปอย่าง Gender Fluid เพราะนอกจากที่วันแสดงผลงานจะเป็นช่วงเดือน Pride Month แล้ว ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาที่ความเท่าเทียมทางเพศเบ่งบานถึงขีดสุด ทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ใกล้ผ่านและประกาศใช้จริงๆ หรือการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน World Pride ในปี 2028 พี่อ้อมเลยเล็งเห็นว่ามันเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้เล่าเรื่องนี้

เพราะพี่อ้อมเชื่อว่า มีศิลปินที่อยากสื่อสาร และอยากเรียนรู้เรื่องเพศด้วยเช่นกัน

“ไม่ใช่ว่าเรามีความรู้ทุกสิ่งอย่างนะ เราอยากหาความรู้ด้วย เราก็เลยไปเชิญคนนั้น-คนนี้มาเป็นวิทยากร ถ้าศิลปินเราไปหา เราก็ได้เรียนรู้ด้วย มันก็คือกระบวนการ-การเรียนรู้ของเราเหมือนกัน  แต่ว่าจุดเริ่มต้นมันเป็นเพราะว่าเราสนใจประเด็นสังคมนั้นๆ แล้วอยากจะนำความคิดสร้างสรรค์ไปสะท้อน สังเกตการณ์ หรือว่าทำให้เกิดการพูดคุย หรือทำให้มันเกิดแพลตฟอร์มที่มันปลอดภัยสำหรับทุกคนในการที่จะพูดคุย มันเป็นประเด็นกลางๆ ซึ่งเราพูดคุยได้ ก็เลยอยากจะเปิดพื้นที่ตรงนี้

“ด้วยความที่เราทำงานแล้วเราอยากจะดึงมาทุกภาคส่วน ทั้งภาคสังคม ทั้งการเมือง ทั้งศิลปะหรืออะไร คือเรารวมได้ การศึกษาด้วย คือเราก็อยากจะรวมแล้วก็เอามาให้เห็นบริบทโดยรวม แล้วก็ให้ศิลปินเข้ามาทำงาน เราก็เลยเริ่มทำ เพราะฉะนั้นประเด็นถ้าพูดง่ายๆ มันก็เริ่มจากความสนใจของเรานี่แหละ แต่มันต้องเข้ากับบริบทของพื้นที่ที่เราอยู่”

05
ความคาดหวังคือ เกินคาดหวัง

เพราะการรวมตัวกันของศิลปินจากหลากหลายภูมิหลัง หลากหลายที่มา ย่อมเกิดความคาดหวังอยู่แล้ว โดยในขั้นต้นคือ การทำงานตามโครงร่างที่ส่งมานำเสนอสำหรับการคัดเลือกให้บรรลุตามเป้าหมาย

“มีศิลปินที่อยากร่วมงานกับศิลปินไทยและทำงานเชิงศิลปะ ศิลปินบางคนมาทำงานวิจัย เพื่ออยากสำรวจชุมชนของเพศหลากหลายในเชียงใหม่สำหรับเอาไปสอนหนังสือต่อ บางคนก็มาเพื่อค้นหาตัวเองและค้นหาความเป็นไปได้อื่นๆ รวมถึงบางคนก็เตรียมเนื้อหาสำหรับนิทรรศการสัญจร แต่หลายๆ คนก็เปลี่ยนความคาดหวังไปเพราะกระบวนการที่เราลงไปทำร่วมกับเขา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

“หลายคนถามว่าทำไมไม่เหมือน Residency ปกติ ที่อื่นเขาก็ปล่อยให้ศิลปินอยากทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ คุณก็มาโฟกัสงานของคุณเลย แล้วทุกคนพูดว่า ไม่คิดว่าเราจะทำโปรแกรมให้เขาขนาดนี้ ตอนที่เราทำ Residency ธีมสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกัน เขาก็พูดแบบนี้ หมายความว่าช่วงที่เข้ามาแรกๆ พี่พยายามจะให้บริบทกับมันให้มากที่สุด ก่อนเข้ามาเราจะต้องเตรียมว่าถ้าเขามาเขาจะเจออะไรบ้างเป็นปกติ เช่น การเดินทาง แต่บริบททางความรู้หรือสังคมให้กับเขาว่า สังคมเราเป็นยังไง ชุมชนเราเป็นยังไง กระบวนคิดของคนที่นี่เป็นยังไง มันเกิดอะไรขึ้นในชุมชนก็ต้องเตรียม ซึ่งตรงนี้พี่ไม่ได้อยากให้เอง ซึ่งตรงนี้พี่ไม่อยากให้ข้อมูลผ่านเลนส์หรือมุมมองของเราเพียงคนเดียว เราเลยคิดว่า เราหาเครือข่าย หาผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ตรงมาให้ข้อมูลดีกว่ าพี่ก็เลยเชิญวิทยากรมาพูด แล้วก็จะเป็นการสื่อสารสองทาง วิทยากรก็สามารถถามกลับได้เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของคุณ เขาก็จะได้เกิดการเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย พอเขาได้รับข้อมูล รับรู้ถึงเงื่อนไข เขาก็เห็นบริบทมากขึ้น” พี่อ้อมอธิบาย

เพราะการเตรียมการเหล่านี้ ทำให้ศิลปินต่างพูดตรงกันว่า การเป็นศิลปินในพำนักของพวกเขามันคุ้มค่ามากๆ เพราะนอกจากที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา เขาสามารถนำองค์ความรู้และข้อมูลต่างๆ ไปปรับใช้กับงานศิลปะสู่การต่อยอด การเชื่อมต่อกับผู้คนใหม่ๆ และความรุ่มรวยในประสบการณ์-การเป็นศิลปินในพำนักของพวกเขา

ซึ่งพี่อ้อมมองว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่เหมาะสมมากๆ สำหรับการทำศิลปินในพำนัก เพราะองค์ประกอบในเชิงประวัติศาสตร์ ความสร้างสรรค์ที่สะท้อนผ่านตัวชุมชน สังคม และผู้คนที่ทำงานศิลปะก็มีความโดดเด่น รวมถึงนิสัยใจคอของคนไทยที่มีความโอภาปราศรัย ยินดีต้อนรับ ก็เป็นอีกส่วนผสมหนึ่งที่ทำให้ศิลปินสามารถเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอกับพื้นที่และชุมชนใหม่ๆ 

“ด้วยความที่ชุมชนมันไม่ได้ใหญ่ ทุกคนรู้จักกัน มันก็เลยเหมือนเกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันค่อนข้างสูง แล้วพี่รู้สึกว่าหลายๆ คนอยากสร้างโอกาส สร้างคุณค่าให้ตัวเอง และถ้าเกิดว่าเขาสามารถใช้โอกาสเหล่านี้ทำให้ตัวเขาได้พัฒนา เขายินดี พี่เลยรู้สึกว่ามันมีส่วนผสมพวกนี้อยู่ เพียงแต่ว่าใครจะใช้ทำอะไรเมื่อไหร่ แล้วเราในฐานะที่เป็นคนที่จัดการโครงการ เรามีคนที่สนใจและเขาอยากมา แล้วถ้าเกิดว่าเขารับได้หรือว่าทำอะไรได้ก็ยินดี อย่างที่พี่พูดว่าอยากจะสร้างหรือขยายเครือข่ายที่มัน Healthy และ Sustainable สำหรับคนที่ทำงานด้านครีเอทีฟ ก็จะช่วยเกิดการสร้างงานด้วย หาคนมาช่วยก็เกิดการสร้างงานด้วย แล้วการที่เราเอาคนอื่นเข้ามา แล้วเขาได้มาเห็นบริบทต่าง เราก็จัดพวกเสวนาหรือว่าพาไปมหาวิทยาลัย หรือไปกับกลุ่มคนต่างๆ มันก็เป็นการเปิดโลกทัศน์อย่างหนึ่ง”

06
Artist Residency is my passion.

“แพสชั่นในการทำหมู่บ้านศิลปินของพี่คืออะไรคะ” เราถาม

พี่อ้อมตอบอย่างเรียบง่ายว่า มันคือความสุขที่ได้พัฒนา และความสุขที่ได้ส่งต่อโอกาส ทั้งตัวศิลปิน ทั้งชุมชนศิลปะ และชุมชนในพื้นที่

“พี่รู้สึกว่าการให้โอกาสคน แล้วหลังจากนั้นเขาไปต่อ มันดีที่สุดแล้ว บางครั้งเราไม่ต้องมีทรัพยากรด้านอื่นให้เขามากมาย แต่ว่าถ้าเราให้โอกาสเขา คนอาจจะต้องการแค่นั้นจริงๆ แล้วอีกอย่างการที่เราได้ทำสิ่งที่เรารัก ที่เราชอบ แล้วเราสามารถอยู่ได้มันก็ดี แล้วพอมาทำ Residency มันทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นโมเดลธุรกิจที่ว่าไปมันเป็นจริงได้ แต่เราก็ต้องทุ่มเทกับมันเหมือนกัน 

“เวลาทำมัน เราไม่รู้หรอกว่าแพสชั่นของเราคืออะไร แต่ว่าศิลปินที่เข้ามาหลายคนพูดเลยว่า เวลาเขามองตาเรา เขารู้เลยว่าอันนี้คือแพสชั่นของเรา ตอนเราพูดเรามีความมั่นใจ เรามีความสุข เขาเห็น เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าคืออะไร ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน มันก็คือสิ่งที่เราเปล่งออกมา” พี่อ้อมว่า

ตอนนี้ Studio 88 Artist Residency กำลังเปิดโครงการรอบใหม่ที่ชื่อ Design and Performing Arts ที่ตอนนี้มีศิลปินที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก พี่อ้อมบอกเราว่า นี่จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้ศิลปินท้องถิ่นและศิลปินต่างชาติได้ทำงานด้วยกันโดยไม่จำกัดรูปแบบ ส่วนแผนในอนาคตก็มีโครงการในธีมสิ่งแวดล้อม การเสริมพลังคนทำงานสร้างสรรค์ รวมถึงเรื่องศิลปะเพื่อคุณภาพชีวิตที่กำลังค่อยๆ ร่างโครงการอยู่

บทสัมภาษณ์นี้เต็มไปด้วยแพสชั่นของคนที่ทำอะไรอย่างหลงใหลสุดจิตสุดใจ แต่เราก็อดคิดไม่ได้ตามประสาเจ้าหนูจำไม เลยฝากคำถามสุดท้ายให้พี่อ้อมก่อนจะจากกัน ซึ่งอาจฉีกคอนเซปต์ของแมกกาซีนเสาวรสไปหน่อย

“ถ้าวันนี้พี่อ้อมไม่ได้ทำหมู่บ้านศิลปิน คิดว่าตัวเองจะทำอะไรอยู่”

“มีความสุขกับทุกวัน” พี่อ้อมตอบเราอย่างเรียบง่าย

“จริงๆ ทุกวันนี้นอกจากทำ Artist Residency ก็บริหารโฮมสเตย์ด้วย แล้วก็พี่ทำงานออนไลน์ด้วย  แล้วก็มีประชุมหรือเวิร์กช็อปที่ต่างประเทศ พี่ก็บินไปต่างประเทศ ไปช่วยหน้างานบ้าง งานให้คำปรึกษาที่เป็นออนไลน์ก็ทำ แต่ทุกๆ วันก็คื อเรารู้สึกเราชอบทำงาน เราชอบเชื่อมต่อกับคน เราชอบเรียนรู้ อันนี้คือสิ่งที่พี่พยายามทำทุกวัน ทำยังไงก็ได้ที่มีความสุข แล้วก็อยู่ได้” พี่อ้อมสรุป

About Storytellers

ทำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นงานหลัก มีครีเอทีฟเป็นงานรอง รับจ้างเขียนหนังสือเป็นงานเสริม เลี้ยงหมาชื่อปิ๊ดปี๋เป็นงานอดิเรก ทำแมกกาซีนออนไลน์เป็นงานเลี้ยงแพสชั่น และกำลังจะได้กลับไปสอนหนังสืออย่างที่เคยหวังไว้

ผู้ที่ชื่นชอบการ Backpack เที่ยวคนเดียวพร้อมกับกล้องคู่ใจ ออกเดินทางเพื่อตามหาสถานที่และมิตรภาพใหม่ๆ